series

เกร็ดการทำวิจัย

คำนำ
บทความเรื่อง เกร็ดการทำวิจัย เขียนโดย รศ.ดร. คมสัน สุริยะ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากการเผยแพร่ในเว็บไซต์ www.tourismlogistics.com เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผู้เข้าชมประมาณสองแสนครั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเว็บไซต์ดังกล่าวก็หายไปตามกาลเวลา ทำให้เกิดการถามถึงจากนักศึกษาทุกระดับชั้นที่จำเป็นต้องทำวิทยานิพนธ์ การค้นคว้าอิสระ หรือปริญญานิพนธ์ ว่าอยากจะอ่านเรื่องนี้อีกครั้งเพื่อเป็นแนวทางในการทำวิจัย ในการนี้ บริษัท ซินดัสทรี จำกัด จึงได้ขออนุญาตอาจารย์คมสันว่าจะขอเรื่อง เกร็ดการทำวิจัย มาเผยแพร่ออนไลน์อีกครั้ง และเมื่อได้รับการอนุญาต ด้วยว่าเพื่อนร่วมงานของอาจารย์คมสันกำลังได้เข้าเรียนต่อระดับปริญญาโท อาจารย์คมสันจึงอยากจะให้ได้อ่านเพื่อเป็นแนวทางในการทำวิทยานิพนธ์ จึงได้อนุญาตและเลือกนำบทความจำนวน 20 ตอน มาเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.syndustrycompany.com แห่งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อไป ทั้งนี้ บางบทความอาจจะยาวมาก หากไม่สามารถอ่านได้ถนัดบนหน้าจออุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ ก็อาจจะลองปรับไปอ่านบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็อาจจะทำให้สะดวกแก่ท่านมากยิ่งขึ้น
เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 1 เมื่อเป็นเด็กอย่าอาย

ความลับอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการเป็นนักวิจัยคือ เมื่อเป็นเด็กอย่าอาย เหตุผลคือในเวลาที่เราเป็นเด็กยังมีผู้ใหญ่อยู่ในวงการ เราต้องรีบแสดงฝีมือให้ผู้ใหญ่ได้ชื่นชมผลงานก่อนที่พวกท่านจะจากเราไป (เช่น เกษียณ) หากพวกท่านจากไปแล้ว จะไม่มีใครเรียกเราว่า "ดาวรุ่งของวงการ" "เด็กกะโปโล" หรือ "เด็กไม่ได้เรื่อง" อีกต่อไป แล้วก็จะไม่มีใครคอยให้ความคิดเห็นหรือชี้แนะเราดุงดั่งผู้ใหญ่สอนเด็กอีกแล้ว เมื่อเราแก่บ้างแล้วก็คงจะไม่มีใครกล้าวิจารณ์เราตรง ๆ ทั้ง ๆ ที่ข้างหลังเขาอาจจะไม่ชอบงานของเราก็ได้ ดังนั้นคำวิจารณ์ที่ตรงไปตรงมาจึงจะได้จากผู้ใหญ่ เด็กอย่างเราจึงควรรีบลงมือทำงานเพื่อให้ท่านได้เห็นและวิจารณ์กันตรง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงตนเองต่อไป

การส่งผลงานเข้าร่วมการประชุมวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอีกเวทีหนึ่งสำหรับเด็ก เพราะว่าตกไม่เจ็บ หากได้ไปเข้าร่วมก็ถือได้ว่าเป็นเกียรติประวัติทั้ง ๆ ที่ยังอายุน้อย คำวิจารณ์จากกรรมการที่อ่านบทความยังตรงไปตรงมา เพราะโดยมากเขาไม่รู้จักเรา ก็จะพิจารณาจากเนื้องานล้วน ๆ เป็นหลัก

การส่งบทความลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เด็กอย่างพวกเราไม่ค่อยกล้า เพราะถือว่าเป็นเรื่องไกลเกินตัว ใหญ่เกินไป อะไรทำนองนี้ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วกลัวการถูกปฏิเสธมากกว่า เพราะอัตราการตีกลับของวารสารดัง ๆ อาจจะเป็น 999 : 1000 คือ ในบทความ 1000 เรื่อง เขาตีกลับ 999 เรื่อง แล้วเอาเพียงเรื่องเดียว วารสารบางแห่งก็ดองงานของเราเป็นสองสามปีจนเซ็ง ระหว่างนั้นจะเอาบทความไปลงที่อื่นก็ไม่ได้เพราะถือว่าผิดกติกา เราก็ต้องมีบทความมากพอที่จะโดนดองไว้หลาย ๆ ที่ และก็ต้องเลือกดี ๆ ว่าจะไปลงวารสารไหนที่น่าจะได้ลงจริง ๆ ก็จะพอมีหวังมากขึ้น อีกอย่างคือเราไม่ชอบการถูกวิจารณ์หนัก ๆ เพราะวารสารพวกนี้วิจารณ์กันหนักมาก เข้าทำนองว่าเราอาจจะต้องรื้อทำวิจัยเรื่องนั้นกันใหม่เลยก็เป็นได้ เรื่องนี้กระทบอีโก้อย่างแรง แต่เป็นเด็กไม่ต้องคิดมาก เขาให้แก้ก็แก้ไป (ถ้าโตเป็นผู้ใหญ่อาจจะอีโก้แรงขึ้นอีก ก็ต้องฝึกอย่าไปติดกับอีโก้พวกนี้ พึงระลึกว่าคำวิจารณ์มีไว้ให้เราดีขึ้น ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไร) ปัญหาอีกเรื่องของการลงวารสารต่างชาติ คือ ภาษาอังกฤษ เราคนไทยมักสู้ฝรั่งไม่ได้ ผมเองก็ยังเขียนได้ไม่ค่อยดี ทำให้ต้องฝึกอีกมาก แต่อย่างไรทำตอนที่ยังเป็นเด็กก็จะดีกว่า ไม่ต้องอาย ล้มไม่เจ็บ ล้มแล้วลุก เดี๋ยวก็ชนะเอง

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 2 ทำอย่างไรเมื่ออาจารย์สั่งให้ไปหาหัวข้อวิทยานิพนธ์

การเริ่มต้นหาหัวข้อก็เป็นสิ่งที่คนเข้าใจผิดกันมาก   โดยเฉพาะบางที่สอนว่าให้ไปดูงานเก่า ๆ แล้วเปลี่ยนสถานที่ หรือเปลี่ยนชื่อหุ้น  ผลก็คืองานก็จะออกมาซ้ำ ๆ กับงานเดิม  เหมือนย่ำอยู่กับที่  เพราะไม่ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ไกลกว่าเดิม   ผมไม่ได้ว่าผิด  แต่คิดว่าไม่ดี

ถ้าอาจารย์ที่สอนอย่างนั้น  ( ซึ่งเข้าใจว่ามีเป็นส่วนน้อย )  มาต่อว่าผมว่า  "แล้วจะให้ทำอย่างไร"  ผมก็คิดว่าคำถามนี้ก็เหมือนกับคำถามของน้องนักศึกษาที่ถามมาว่า  "ควรทำอย่างไรเมื่อต้องไปหาหัวข้อวิทยานิพนธ์"  ซึ่งผมก็ขอตอบด้วยความเคารพ  ด้วยบทความนี้

การหาหัวข้อวิทยานิพนธ์เป็นเรื่องที่อาจารย์สั่งง่ายที่สุด  "คุณไปหาหัวข้อมา  แล้วเขียนมาส่งอาทิตย์หน้า ไม่ต้องยาว  เอาบรรทัดเดียว"

แต่เป็นเรื่องที่นักศึกษาทำได้ยากที่สุด   จนถึงอาจจะทำไม่ได้   หรือทำได้ก็ไม่ดี  ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  และไม่จบสักที

การที่จะทำให้การหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ง่ายขึ้นนั้นมีเพียง  9  ขั้นตอนสั้น ๆ ดังนี้

ขั้นที่ 1   เลือกก่อนว่าตกลงจะอยู่ใน วงการไหน  เอาให้แน่  อย่าเอาแบบกล้า ๆ กลัว ๆ  เลือกไปเลยสักทาง --- ซึ่งนี่ก็คงยากที่สุดเหมือนกัน ใครว่าง่าย

ขั้นที่ 2   วงการนั้นเขาทำเรื่องอะไรกัน  ศึกษาดูสักหน่อย  (เช่น  ลอง search ดูในอินเตอร์เน็ตสักหน่อย  ลองไปห้องสมุดดูสักหน่อย   ลองถามรุ่นพี่ดู  หรือลองถามอาจารย์ที่เราสนิทดู 

จริง ๆ ก็คือ Literature Review แต่ทำไปอย่างเป็นธรรมชาติ)

ขั้นที่ 3   ในบรรดาเรื่องที่เขาทำ ๆ กันอยู่นั้น   เราสนใจอยากทำเรื่องอะไร

ขั้นที่ 4   ทำไมถึงสนใจ  

  • เราสามารถตอบได้ทั้งเรื่องส่วนตัว  เช่น  คิดว่าจบง่าย  คิดว่าจบด้านนี้แล้วมีงานทำ   
  • เราสามารถตอบได้ทั้งเรื่องประโยชน์ของมัน   เช่น  คิดว่าถ้ารู้แล้วจะรวยขึ้น  เช่น พยากรณ์หุ้นแม่นขึ้น    ทางบ้านจะค้าขายได้ดีขึ้น หรือถ้ารู้แล้วจะทำให้หน่วยงานทำงานได้ดีขึ้น เช่น  พยากรณ์การสละสิทธิ์ของนักศึกษาโควต้า
  • เราสามารถตอบได้ทั้งเรื่องที่เป็นอุดมคติ  เช่น  คิดว่าถ้ารู้แล้วจะช่วยประเทศชาติได้มาก  เช่น เรื่องความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • เราสามารถตอบได้ทั้งเรื่องที่จะทำให้ชีวิตก้าวหน้า  เช่น   ถ้ารู้แล้วจะมีทุนวิจัยมาให้ทำในด้านนี้ต่อไปได้เรื่อย ๆ ทั้งในและต่างประเทศ  หรือองค์กรที่เราอยากทำงานด้วยเขาชอบเรื่องทำนองนี้

ทำไมเราต้องตอบ   เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ  เพื่อให้เราอยากทำ  ไม่ใช่โดนบังคับให้ทำ  (และจะทำอย่างไรถ้าไม่อยากทำ)

ขั้นที่ 5   เจาะจงลงไปได้ไหมว่าอยากรู้เรื่องอะไร คำถามคืออะไร  อะไรที่ต้องการหาคำตอบ

ขั้นที่ 6   แน่ใจไหมว่าไม่เคยมีใครเคยตอบคำถามนี้มาก่อน  (นี่ก็คือการทำ Literature Review  อย่างเป็นธรรมชาติเหมือนกัน)

ถ้าแน่ใจแล้วก็เขียนลงไปว่า  จะทำวิทยานิพนธ์เพื่อตอบคำถามต่อไปนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่

ขั้นที่ 7   ตั้งชื่อเรื่อง  จบ

ขั้นที่ 8   ในเมื่อมันจบลงตั้งแต่ขั้นที่ 7 แล้ว  ก็อย่ามัวพะวงว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไร 

เช่น   เอ๊ะ เราไม่มีความรู้เรื่องนั้นจะทำได้ไหม  ไม่มีข้อมูล  ข้อมูลจะหาอย่างไร  ขี้เกียจหาข้อมูล 

ทำแล้วจะจบไหม  ทำแล้วจะดังไหม  ทำแล้วจะได้งานทำไหม   ทำแล้วจะรวยไหม   อะไรอีกสารพัดที่จะทำให้ไม่อยากทำเรื่องนั้น

เพราะไม่มีเรื่องไหนที่ Perfect  จนสามารถบันดาลให้ทุกอย่างที่เราต้องการเกิดขึ้นได้  มันต้องมีอุปสรรคบ้าง  ซึ่งเราก็ต้องแก้ไขกันไป

เรื่องเหล่านี้อาจารย์ที่ปรึกษาจะเป็นผู้แนะนำให้  อยู่ที่ว่าจะได้อาจารย์ที่ชำนาญเรื่องนั้นด้วยไหม  ถ้าชำนาญ  อาจารย์ก็จะเคยทำมาก่อนก็จะรู้ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ และมีทางลัดอะไรอย่างไร   ถ้าอาจารย์ไม่ชำนาญก็อาจจะออกได้สองทาง คือ  ไม่ให้ทำ โดยบอกว่าทำไม่ได้  หรือ  ให้ทำได้โดยไปเสี่ยงกันเอาดาบหน้า   เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับโชควาสนาว่าจะเจออาจารย์ที่ชำนาญหรือไม่ 

หากใครอยากรู้ว่าอาจารย์ที่ปรึกษามีวิธีการอย่างไรในการตรวจสอบว่าหัวข้อวิทยานิพนธ์ดีหรือไม่  อ่านได้จาก Link ต่อไปนี้  >>LINK<<

สรุปขั้นที่ 8  คือ  ไม่ต้องคิดมาก

ขั้นที่ 9   เมื่อผ่านมา 8 ขั้นได้แล้ว ชีวิตก็เริ่มจะสดใสขึ้น  จากนั้นถ้าอาจารย์ถามว่า "คุณจะทำเรื่องอะไร"

ก็ให้เล่าให้ฟังว่า 

" ผม / หนู  อยากทำเรื่องนี้  โดยคำถามวิจัยมีอยู่ว่า หนึ่ง สอง สาม สี่  เหตุที่อยากทำก็เพราะว่าคิดว่ามันดีอย่างนั้นดีอย่างนี้"   ก็เล่าไป   

อาจารย์จะเอากลับไปคิดดูว่า  มันพอจะโอเคไหม  มีเรื่องอะไรที่น่าจะเป็นปัญหาไหม  มันปิ๊งหรือยัง  มันคริสตอลเคลียร์หรือยัง

จากนั้นถ้าอาจารย์โอเคกับเรา  ก็ถือว่า  หัวข้อผ่าน   แล้วเราก็สามารถเริ่มต้นทำงานนั้นต่อไปได้    โดยมีอาจารย์คอยแนะนำยามที่เรารู้สึกว่าจะไปต่อไม่ได้

แต่ถ้าหัวข้อไม่ผ่าน  ก็ต้องถามอาจารย์ว่าทำไม   อาจารย์อาจจะให้เหตุผลบางอย่างที่อาจารย์คิดว่าสำคัญ   น้ำหนักที่อาจารย์แต่ละท่านให้ในเรื่องต่าง ๆ ก็จะแตกต่างกัน   คิดเสียว่าอาจารย์ก็เหมือนนิ้วห้านิ้ว  ไม่เหมือนกันสักนิ้วและไม่ Perfect สักนิ้ว     นิ้วหัวแม่มือสั้นป้อมแต่เข้มแข็งและเอาไว้ยกนิ้วว่าเป็นเลิศ     นิ้วชี้ชอบสั่งให้ทำโน่นทำนี่จนเหนื่อยแต่มีประโยชน์มหาศาล   นิ้วกลางดูเหมือนไม่ค่อยได้ทำอะไรแต่คอยผลักดันอยู่เบื้องหลังในเกือบทุกเรื่อง   นิ้วนางดูเหมือนอยู่ห่างไกลแต่เอาไว้สวมแหวนในโอกาสสำคัญที่มาไม่บ่อยแต่ได้ใจ    นิ้วก้อยเล็กสุดแต่เกี่ยวก้อยกันได้ตลอดเวลา   แต่ละนิ้วก็ชอบอะไรที่ต่างกัน  นิสัยต่างกัน  แต่ก็มีข้อดีด้วยกันทั้งนั้น  พยายามมองที่ข้อดีของอาจารย์

คำพูดที่เป็นประโยชน์ต่อเรา  คำพูดที่ช่วยเหลือเราได้  ไม่จำเป็นต้องเพราะ    แต่ถ้าเพราะด้วยก็ยิ่งดี

ดังนั้น  การเลือกอาจารย์สำคัญมาก   เลือกอาจารย์ที่ชอบสิ่งที่เราทำ   จริง ๆ ก็คือเลือกอาจารย์ที่ชอบเรา   เลือกอาจารย์ที่ไปกันได้กับเรา   คุยกันรู้เรื่อง  อัธยาศัยเข้ากันได้   มีเรื่องอะไรก็พอจะพูดคุยกันได้  ไม่ใช่แต่โดนด่าอย่างเดียว    โดยมากอาจารย์ทุกท่านสามารถบอกได้ว่าเราควรจะทำเรื่องนั้นไปในทางทิศไหน   เพียงแต่ว่าเราจะอยากจะไปทางนั้นหรือไม่   ถ้าใช่  ก็ถือว่าโชคดีไป   แต่ถ้าไม่ก็ต้องอ่านเรื่อง  ทำอย่างไรถ้าไม่อยากทำ

ไหนว่าง่าย

มาถึงตอนนี้น้อง ๆ อาจจะต่อว่าผมว่า  ไหนบอกว่าจะบอกขั้นตอนที่ง่ายขึ้นสำหรับการหาหัวข้อ   ไม่เห็นง่ายเลย  และใช้เวลามาก

ผมอยากจะบอกว่า  ขั้นตอนนี้เป็นธรรมชาติที่สุด   ถึงจะใช้เวลาหน่อย  แต่ทำได้แน่    ทำได้แล้วก็จะดี   ทำแล้วก็จะมั่นคงเพราะอยากทำ    ไม่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อย   ถึงจะไม่มีอาจารย์ก็ยังมั่นคงได้   เพราะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถยืนหยัดไปหาอาจารย์ท่านอื่น  และแม้จะได้อาจารย์ที่ไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่ค่อยสนับสนุนสิ่งที่เราทำ  เราก็จะมั่นคงพอที่จะอธิบายและโน้มน้าวให้อาจารย์เห็นดีเห็นงามตามเราไปด้วย  นอกจากนั้นเมื่อถึงเวลาที่เข้าทางตันและไม่สามารถพึ่งใครได้แม้แต่อาจารย์  เราก็ยังจะมั่นคงและตั้งสติได้ด้วยตัวเองและหาทางฟันฝ่ามันไปได้ด้วยตัวเอง   ไม่จำเป็นต้องนั่งร้องไห้เมื่อไม่มีใคร  เพราะเรารู้ว่าเราจะทำอะไรตั้งแต่ต้น   เรารู้ว่านี่คืองานของเรา   เรารู้ว่าเราต้องยืนหยัดอยู่กับมันจนกว่ามันจะสำเร็จ

ผมว่าการหาหัวข้อ  ก็คือการค้นหาตัวเอง


“การได้หัวข้อ  ก็คือการค้นพบตัวเอง”

การมั่นคงอยู่ในหัวข้อและกลั้นใจทำจนเสร็จ   ก็คือการจารึกความสำเร็จไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ของตัวเอง

เมื่อเรารู้แล้วว่ามันดี  แต่ต้องใช้เวลา  

เราก็ต้องให้เวลากับมัน

เมื่อเรารู้ว่าอาจารย์ต้องสั่งให้ไปหาหัวข้อแน่ ๆ  พันเปอร์เซ็นต์

เราก็ต้องเตรียมหาไว้ก่อน

ไม่ต้องรออาจารย์สั่งนะครับ

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 3 ทำอย่างไรถ้าไม่อยากทำ

ปัญหาที่ผมว่ารุนแรงกว่าเรื่องทักษะการทำวิจัยคือเรื่องไม่อยากทำ   มีน้องคนหนึ่งเขียนเข้ามาว่าไม่อยากทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้  แต่ที่ทำเพราะเป็นความสนใจของอาจารย์  อาจารย์ต้องการให้ทำเรื่องนี้  จะเปลี่ยนอาจารย์ก็สายเกินไปแล้วเพราะเวลาล่วงเลยมามาก  อาจารย์ท่านอื่นก็เต็มหมดแล้ว  จะทำอย่างไร  เพราะอยากจบแต่ไม่อยากทำ

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับน้องคนเดียว  หากแต่เกิดกับนักศึกษาส่วนมาก  สาเหตุก็หลายอย่างเช่น  นักศึกษาค้นหาตัวเองไม่เจอว่าชอบอะไรหรืออยากทำเรื่องอะไร  เช่น ถ้าถามว่าน้องไม่ชอบทำเรื่องนี้แล้วน้องอยากทำเรื่องอะไร  ก็ตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน  นั่นประเด็นที่หนึ่ง 

ประเด็นที่สอง   รู้ว่าชอบอะไร แต่ปฏิเสธไม่ได้  เมื่ออาจารย์นำเรื่องที่อาจารย์อยากทำมาเสนอให้ก็รับไว้โดยไม่ปฏิเสธ  เพราะอาจจะเกรงใจ  ไม่กล้า  ไม่รู้จะหาเหตุผลมาปฏิเสธอย่างไร  หรือก็ยังไม่รู้ว่าจะทำเรื่องอะไรในสิ่งที่ชอบ  จึงต้องรับไว้ก่อนและลงเอยที่เหมือนโดนบังคับให้ทำ

ประเด็นที่สาม  ถึงรู้ว่าตัวเองชอบเรื่องนี้แต่ไม่มีอาจารย์ที่ชอบด้วย  หาอาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้  คุยกันไม่รู้เรื่องเพราะอาจารย์ไม่ได้สนใจในเรื่องนั้น 

ประเด็นที่สี่  ถึงรู้ว่าชอบเรื่องอะไร  และอาจจะมีอาจารย์ที่ชอบเรื่องนั้นด้วย  แต่ทุนให้มาทำในอีกเรื่องหนึ่ง  จะไปทำเรื่องอื่นเจ้าของทุนก็ไม่อนุมัติ

ถ้าเราไม่อยากทำแล้วเวลาเจอปัญหาเราจะฝ่อ  ท้อแท้  เหนื่อยอ่อนและคิดว่าชีวิตนี้คงจะไม่จบแล้ว  หลาย ๆ คนหาทางออกโดยการหยุดทำสักพัก  นาน ๆ เข้าก็เริ่มหยุดสนิท  แล้วมันจะจบได้อย่างไร

วิธีแก้ไขทำได้ดังนี้

หนึ่ง  ถามว่าน้องเสียดายเวลาที่ผ่านมาแล้วไหม  น้องพร้อมจะกลับไปนับหนึ่งใหม่ไหม   ถ้าไม่เสียดาย  ถ้าพร้อมจะกลับไปนับหนึ่งใหม่  ก็ลาออกเลย  แล้วหันไปเรียนในสิ่งที่ชอบ

สอง  ถ้าไม่ลาออก  ก็ถามว่าน้องกลัวที่จะมีเรื่องกับอาจารย์ไหม  ถ้าไม่กลัว  ก็บอกลา อาจารย์   ขอเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา  แล้วไปหาอาจารย์ท่านอื่นที่ชอบด้านเดียวกัน

สาม  ถ้าไม่ลาออกและไม่เปลี่ยนอาจารย์  ก็ต้องปรับทัศนคติที่มีต่องานและชีวิต

ทัศนคติที่จะทำให้น้องล้มเหลว  คือ  ฉันไม่ชอบเรื่องนี้  ฉันไม่เหมาะกับเรื่องนี้  ฉันไม่ได้ถูกฝึกมาด้านนี้  ฉันไม่ได้เรียนมาด้านนี้  ฉันไม่อยากใช้เวลาของฉันไปกับเรื่องนี้  ฉันทำเรื่องนี้ไม่ได้   ยังมีเรื่องอื่นที่ฉันอยากทำแต่ยังไม่ได้ทำแล้วต้องมาเสียเวลากับเรื่องนี้  ฉันต้องตายแน่ ๆ ถ้าต้องทำเรื่องนี้ต่อไป   ฉันไม่มีวันจบแน่   ฉันแพ้แน่

ทัศนคติที่จะทำให้น้องฟื้นขึ้นมาจากหลุม คือ  ฉันชอบเรื่องนี้  ฉันเหมาะกับเรื่องนี้  ฉันฝึกด้านนี้ได้  ฉันเรียนด้านนี้เพิ่มได้  ไหน ๆ ฉันได้ใช้เวลากับมันแล้วก็จะทำให้ดีที่สุด  ฉันต้องทำเรื่องนี้ได้  ฉันจะทำเรื่องนี้ให้เสร็จก่อนแล้วฉันจะไปทำเรื่องอื่นที่ฉันชอบต่อไป  ฉันไม่มีวันตายกับเรื่องง่าย ๆ แค่นี้    ฉันจบชัวร์อยู่แล้วอาจจะช้าหน่อยแค่นั้น   ฉันไม่มีวันแพ้

ท่องเข้าไปกับคำพูดดี ๆ เหล่านี้  ทำใจให้สงบ  นิ่ง ๆ ไว้   อดทน  มั่นคง  และท่องเข้าไป  ทัศนคติทางบวกจะซึมลงไปลึกจนถึงก้นบึ้งของหัวใจ  เราจะเชื่อมันจริง ๆ และความเชื่อจะทำให้เราทำได้จริง ๆ 

สายการบินเซาท์เวสต์ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีสโลแกน ว่า  

"เราจ้างคนที่ทัศนคติ"

ในเมื่อเราหลบไม่ได้เราก็ต้องสู้

ถ้าน้องบอกว่าก็จะสู้อยู่แล้วแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน  ผมก็จะค่อย ๆ ถามเป็นข้อ ๆ ดังนี้

หนึ่ง  น้องสอบ Proposal หรือยัง  ถ้ายังก็เขียน Proposal ก่อน 

สอง   ถ้าน้องสอบ Proposal แล้ว  แต่ยังไม่ได้เก็บข้อมูล  ก็เตรียมตัวลงเก็บข้อมูลได้  ต้องฟิตร่างกาย  ต้องวางตารางเวลาเดินทาง  ต้องเตรียมตัวเดินทาง  ต้องโทรศัพท์ไปนัดคนที่เราจะต้องไปขอข้อมูลหรือสัมภาษณ์   ต้องเตรียมบทพูด  ต้องเตรียมเอกสารให้ครบ  ปากกาดินสอ  สิ่งที่จะใช้บันทึกข้อมูล   ถ้ายังรู้สึกไม่พร้อมให้ไปว่ายน้ำสักวันสองวันติดต่อกัน  แล้วระหว่างนั้นให้คิดไปว่าจะต้องเดินทางไปพบใครและทำอะไรบ้าง  จะเป็นการสร้างภาพล่วงหน้าในช่วงเวลาที่กล้ามเนื้อและจิตใจของเราผ่อนคลาย    แล้วเหตุการณ์มักจะเป็นจริงตามนั้น  

การเก็บข้อมูลต้องแน่ใจว่าจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องตามที่ต้องใช้ในวิธีวิเคราะห์  ไม่ใช่เก็บข้อมูลมาแล้วรันไม่ออก   จะเดือดร้อนต้องมาเก็บข้อมูลใหม่ 

สาม  ถ้าน้องมีข้อมูลแล้ว  แต่ข้อมูลยังไม่เป็นระเบียบ  ก็กลั้นใจจัดระเบียบให้มันสักอาทิตย์หนึ่งก็คงเสร็จ 

สี่  ถ้าข้อมูลเป็นระเบียบแล้วแต่ยังไม่ได้วิเคราะห์  ก็ต้องถามว่าใช้วิธีวิเคราะห์ที่เสนอไปใน Proposal เป็นไหม  ถ้าไม่เป็นก็ต้องลงเรียนเพิ่ม  ถามรุ่นพี่  หรือเข้าหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อถามหรือขอให้สอนให้  เสียเวลาหน่อยแต่ก็จำเป็น   งานจะทำให้เราเก่งขึ้น   

ห้า  ถ้าพอจะรู้ว่าจะวิเคราะห์อย่างไรแล้วแต่ติดปัญหาทางเทคนิคทำให้ผลการวิเคราะห์ไม่ยอมออกมาหรือได้ผลไม่ดี  แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรืออาจารย์ที่ปรึกษา  อย่ามัวชักช้า  เพราะของที่รันไม่ออก  ถ้างมอย่างไม่รู้ทิศทางอาจเสียเวลานานมาก  แต่อาจารย์ที่ปรึกษามักผ่านปัญหาพวกนี้มาแล้วก็จะรู้ทางลัดที่จะแก้ไขได้โดยง่าย  

บางกรณีที่ผลการวิเคราะห์ออกมาไม่เป็นใจ  ต้องอาศัยการปรับทิศทางของเรื่องกันใหม่  เหมือนกับการเขียน Proposal  ขึ้นมาใหม่  ซึ่งต้องการความลงตัวอย่างรุนแรงของเรื่องราว  เหตุผล  น้ำหนักความน่าสนใจ และความเป็นไปได้ที่จะทำ  รวมทั้งความกล้าที่จะทำ ช่วงแรกอาจจะมืดมน  แต่เมื่อค่อย ๆ คิดหาทางไปก็จะสว่างขึ้นได้เรื่อย ๆ  จนใสปิ๊งในที่สุด หรือ คริสตอลเคลียร์

หก  ถ้าได้ผลวิเคราะห์ออกมาแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะสรุปอย่างไร  ก็ขอให้รวบรวมสมาธิ  ถามตัวเองว่าต้องการตอบคำถามอะไร  แล้วผลการศึกษาที่ออกมานั้นตอบคำถามเหล่านั้นหรือไม่   ถ้าตอบได้  สรุปว่าได้คำตอบว่าอย่างไร   เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็เขียนออกมา  จากนั้นเขียนบทคัดย่อ  

เจ็ด  ถ้าเขียนรายงานออกมาแล้วโดนอาจารย์แก้แล้วแก้อีก  อาจารย์อาจจะตำหนิเรื่องการใช้ภาษาค่อนข้างมาก  (นี่ยังดีที่เป็นภาษาไทย  ถ้าเป็นภาษาอังกฤษจะแย่กว่านี้)  บางคนถึงกับรู้สึกแย่กับชีวิตไปเลย  ซึ่งผมมักจะให้ข้อคิดเรื่องเลขานุการของคุณอานันท์ ปันยารชุน อยู่เสมอ  

เล่ากันว่าเลขาฯ ของคุณอานันท์เก่งภาษาฝรั่งเศสมากจบมาเกี่ยรตินิยมเหรียญทองจากมหาวิทยาลัยดัง   แต่เมื่อร่างจดหมายให้คุณอานันท์อ่านกลับโดนแก้มาอย่างมากมาย  เลขาฯคนนั้นเสียใจมากที่ดูเหมือนจะถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากการแก้ไขด้วยปากกาแดงนั้น   ความเสียใจแทบจะทำให้เธอลาออก   แต่เธอได้รับคำแนะนำให้ฝึกฝนต่อไป  ซึ่งเธอก็พบว่ายังมีศาสตร์และศิลป์ในการใช้ภาษาที่เธอยังไม่รู้อีกมาก  ต้องขอบคุณคุณอานันท์ที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์การใช้ภาษาระดับฑูตที่มาช่วยแก้ไขสำนวนให้เธอให้ไพเราะและตรงความหมายยิ่งขึ้น  ตอนนี้เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย

แปด  ถ้าร่างรายงานวิทยานิพนธ์ผ่านการตรวจแก้ของอาจารย์ที่ปรึกษาแล้วก็คงไม่ต้องเครียดแล้ว นัดสอบได้  แต่อย่าประมาท  เตรียมตัวไปให้พร้อม 

เก้า  ถ้าโดนแก้ไขในการสอบอย่างรุนแรงก็อย่าไปเสียใจมาก  คณะกรรมการให้แก้อะไรก็แก้ไปตามนั้น  ส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาดูใหม่  อาจจะจบช้าไปสักเทอมแต่จบแน่นอน  

ข้อห้ามเวลาท้อแท้

หนึ่ง  ห้ามฆ่าตัวตาย  เพราะเป็นเรื่องที่ไร้สาระมากที่เราต้องมาตายกับเรื่องวิทยานิพนธ์  ถ้าไม่จบก็คือไม่จบ  ชีวิตก็ดำเนินต่อไป  มันจะเสียหน้าอะไรกันนักหนา  มีชีวิตอยู่สู้ต่อไป  หนทางยังมีอีกเยอะ 

สอง  ห้ามคิดสั้นก๊อปแปะ  หรือ Copy and paste  เพราะเป็นสิ่งที่รับไม่ได้เลย  เขาเรียกว่า Plagiarism  ที่เมืองนอกมีโทษถึงไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเพราะถือว่าเป็นการขโมยงานของคนอื่น  เทียบได้กับการประกอบอาชญากรรม 

สรุปก็คือถ้าไม่อยากทำก็เลิก  ถ้าเลิกไม่ได้ก็ต้องกลั้นใจทำต่อ  จริง ๆ ถ้าอยากจบก็ยังมีหนทาง  เพราะเดี๋ยวนี้ ผู้ที่ให้คำแนะนำในการทำวิทยานิพนธ์อย่างเป็นขั้นเป็นตอนก็มีอยู่มากมายและเข้าถึงได้ง่าย ขอให้ทุกท่านโชคดี ฟื้นขึ้นจากหลุม และประสบความสำเร็จในที่สุดครับ

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 4 ทำวิจัยที่เรารู้เรื่อง แต่ไม่ใช่ที่รู้แล้ว

ความรู้ใหม่มักจะเกิดจากการต่อยอดความรู้เดิม   หากไม่มีพื้นฐานเดิมก็ยากที่จะได้ของใหม่  

ครั้งหนึ่งเมื่อจอห์น แนช (นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 1994)  เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยพริ้นสตั้น ได้เข้าพบไอน์สไตน์เพื่อถกปัญหาเรื่องทฤษฎีทางฟิสิกส์    ผลออกมาว่าไอน์สไตน์ขอให้แนชกลับไปเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานทางฟิสิกส์มาให้มากกว่านี้เสียก่อน   จอห์น แนช โกรธมากและไม่ยอมกลับไปหาไอน์สไตน์อีกเลย 

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  อย่าทำในสิ่งที่เราไม่รู้เรื่อง   เพราะเมื่อพื้นฐานไม่แน่นก็ยากที่จะต่อยอด ถึงพยายามต่อออกไปก็ไม่รู้ว่าจะผิดหรือถูก

นอกจากนั้น  อย่าได้พยายามทำวิจัยหาคำตอบที่เรารู้แน่นอนอยู่แล้ว เพราะการวิจัยเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราได้ความรู้ใหม่   ไอน์สไตน์กล่าวในอีกโอกาสหนึ่งว่า หากเราทำในสิ่งที่เรารู้คำตอบอยู่แล้วว่าจะออกมาว่าอย่างไร นั่นไม่เรียกว่าการวิจัย

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 5 Sense ของอุตสาหกรรม

อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เปรียบดั่งครูของผมชอบพูดถึงคำว่า Sense ของอุตสาหกรรม พร้อมทั้งบอกว่าสำคัญอย่างนั้นสำคัญอย่างนี้ ตอนแรกผมฟังก็พอรู้เรื่องแต่ไม่เข้าใจ มาตอนนี้ได้ลงมือทำวิจัยเองมากขึ้น ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้น

Sense ของอุตสาหกรรมแปลว่า เราเข้าใจสิ่งที่เราทำ (คือ อุตสาหกรรมที่เราศึกษา) จนสามารถบอกได้ว่าตัวเลขที่คำนวณออกมานั้นผิดหรือถูก

ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยทำให้เราแทบจะสามารถคำนวณสูตรยาก ๆ ออกมาได้เพียงในเสี้ยววินาที   แต่มันอาจจะผิดก็ได้ คนที่จะบอกได้ว่าถูกหรือผิด ก็คือคนที่มี Sense ของอุตสาหกรรม

นักวิจัยจะมี Sense ของอุตสาหกรรมได้ก็ต่อเมื่อคลุกอยู่กับเรื่องนั้นนาน ๆ สำรวจอย่างละเอียด รู้จักเรื่องราวและผู้คนในเรื่องนั้นมากพอ   ถ้าเป็นเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวก็คือลงพื้นที่เยอะ ๆ หรือถ้าเป็นเรื่องหุ้นก็คืออยู่กับตลาดหุ้นมานานมากพอ  

คนที่จะได้ทุนวิจัยคือคนที่เขาไว้ใจให้ทำงาน   เขาจะไว้ใจให้ทำงานก็ต่อเมื่อทำงานมาส่งถูก   ทำงานถูกก็ต่อเมื่อรู้ว่าอะไรถูกอะไรไม่ถูก   และจะรู้ว่าอะไรถูกก็ต่อเมื่อมี Sense ของอุตสาหกรรม

นักวิจัยที่ประสบความสำเร็จ  ไม่ได้เกิดจากการกางตำราแล้วทำวิจัยไปตามนั้น   และไม่ได้เกิดจากการดูคนอื่นแล้วลอก    แต่เกิดจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องที่ทำ  สามารถเล่าเป็นเรื่องเป็นราวได้สามวันสามคืนไม่มีวันจบ   และรู้ว่าเรื่องไหนใช่และไม่ใช่สำหรับเรื่องนั้น  อีกทั้งมีหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์มายืนยันได้  ไม่ใช่คิดเพ้อเจ้อไปเอง

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 6 การตอบคำถามรายรอบเพื่อตอบคำถามใหญ่

ในบางครั้งคำถามบางข้อไม่สามารถตอบได้ตรง ๆ ด้วยเหตุผลว่ามันไม่มีหลักฐานตรง ๆ ที่จะยืนยัน (เอาผิดผู้ต้องหา)ได้ มันก็ต้องตั้งคำถามรายรอบขึ้นมาเพื่อหาเหตุผลแวดล้อมมาสนับสนุน การตอบคำถามรายรอบมให้ได้อย่างชัดเจนและครบถ้วนเสียก่อนจะทำให้เห็นได้เองว่าคำตอบของคำถามใหญ่คืออะไร เราเรียกการทำวิจัยอย่างนี้ว่าชุดวิจัย

ชุดวิจัยประกอบด้วยการวิจัยย่อยหลาย ๆ เรื่อง โดยแต่ละเรื่องมุ่งตอบคำถามรายรอบในแต่ละด้านเพื่อมุ่งไปที่การตอบคำถามใหญ่เพียงคำถามเดียว คือ คำถามของชุดวิจัย นักศึกษาปริญญาเอกในยุโรปอาจจะคุ้นเคยกับการทำชุดวิจัยเมื่อต้องเขียนวิจัยหลายเรื่องในวิทยานิพนธ์เล่มเดียว โดยให้คำตอบแต่ละเรื่อง (แต่ละบทในวิทยานิพนธ์) รวม ๆ กันแล้วสามารถเขียนบทสรุปของประเด็นหลักของวิทยานิพนธ์ทั้งเล่มได้  

การให้ทุนวิจัยมีการให้ทุนทำชุดวิจัย ซึ่งนักวิจัยต้องระลึกเสมอว่างานวิจัยย่อยในชุดวิจัยนั้นเป็นการศึกษาหาคำตอบย่อยที่รายรอบประเด็นที่ศึกษา แล้วเมื่อได้คำตอบรายรอบนั้นมาแล้วจะต้องตอบคำถามใหญ่ของการศึกษาได้ หากไม่สามารถตอบได้ก็ถือว่าไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องมีการทำวิจัยย่อยเพิ่มเติมต่อไป บางครั้งชุดวิจัยหนึ่ง ๆ อาจจะต้องทำการศึกษาถึง 5 ปี เพื่อให้ได้ผลการวิจัยย่อยมากพอที่จะสรุปประเด็นการศึกษาใหญ่ได้ การวิจัยเรื่องละ 5 ปีนี้เป็นปกติธรรมดาของการวิจัยในยุโรป (บางโครงการให้เวลาถึง 20 ปีจนกระทั่งออกดอกผลเชิงพาณิชย์ใหญ่โตระดับโลก และสร้างนักศึกษาปริญญาเอกได้มากมาย) แต่ในเมืองไทยถือว่านานเกินไปจนอาจจะทนรอไม่ได้ และถือว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ บ้างก็เหน็บแนมว่าผลาญเงินกันเข้าไป ไม่ค่อยมีใครเข้าใจว่าการทำวิจัยให้ลึกซึ้งต้องใช้เวลา ทำให้งานวิจัยในเมืองไทยไม่ค่อยต่อเนื่องเพราะผู้ให้ทุนเปลี่ยนใจไป ๆ มา ๆ ตามกระแสนิยมของโลกมากกว่าที่จะมุ่งให้ทำวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่องจนนักวิจัยเกิดความลุ่มลึกในเรื่องที่วิจัย ประเทศไทยจึงมักได้ผลการวิจัยที่ฉาบฉวยมาตลอด 

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 7 การถามต่อ

ครั้งหนึ่งอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เปรียบดั่งครูของผมเคยกล่าวชมผลงานเรื่องหนึ่งของนักวิจัยท่านหนึ่งว่าเป็นงานวิจัยที่ดี ท่านให้เหตุผลว่างานวิจัยนี้ดีเพราะมีการถามต่อ เริ่มเดิมทีงานวิจัยจะมีคำถามวิจัย (research question) อยู่ เมื่อทำการศึกษาแล้วได้หลักฐานอะไรมาบางอย่างก็พยายามสรุปออกมาเป็นคำตอบ แต่คำตอบนั้นกลับทำให้เกิดความสงสัยต่อไปอีก จึงเกิดคำถามต่อเนื่องขึ้นมาอีก (หากไม่ได้คำตอบแรกมาก่อนก็อาจจะไม่พบคำถามข้อต่อไป) นักวิจัยก็ไม่หยุดอยู่เพียงการตอบคำถามแรก กลับทำวิจัยเพิ่มเติมเพื่อที่จะตอบคำถามที่สองนั้นอีก  

งานวิจัยเหมือนกับนิยายสืบสวนสอบสวน หากมีชั้นเดียวก็จะไม่สนุก การมีคำถามต่อเนื่องจากคำตอบแรก ทำให้เรื่องเกิดเป็นสองชั้น การได้คำตอบชั้นที่สองจะทำให้งานวิจัยน่าสนใจขึ้นอีกมาก  

งานวิจัยที่ดี คือ งานวิจัยที่ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหนักแน่น คือ จนกว่าจะค้นพบสิ่งที่หนักแน่น

อย่างไรก็ตามงานวิจัยทั่วไปจะมีข้อจำกัดด้านเวลาและงบประมาณวิจัย ดังนั้นเมื่อค้นพบคำตอบแรกแล้วก็มักจะหมดเวลาและหมดทุน อย่างไรก็ตามการตั้งคำถามที่สองซึ่งต่อเนื่องจากคำตอบแรกยังควรจะทำอยู่ หากสามารถตอบได้ด้วยการทบทวนวรรณกรรม (Literature review) ก็ถือว่าดีในระดับหนึ่ง เพราะทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินและได้รับความรู้มากขึ้นอีกชั้นหนึ่ง แต่หากยังไม่สามารถตอบได้ก็ควรเขียนไว้ในประเด็นการศึกษาในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนข้อเสนอแนะท้ายเล่ม 

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 8 ยกตัวอย่าง เออ...จริง

ระหว่างการบรรยายความในรายงานการวิจัยนั้น มีสามสิ่งสำคัญคือ   ต้องทำให้ผู้อ่านสามารถตามความคิดของนักวิจัยได้ทัน  ต้องโน้มน้าวให้ผู้อ่านคิดตาม และต้องทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินไปพร้อม ๆ กัน  สามสิ่งนี้สามารถทำได้ด้วยการยกตัวอย่างที่เรียกว่า เออ...จริง

ตัวอย่างประเภท เออ...จริง เป็นเรื่องที่ผู้อ่านเชื่ออยู่แล้ว อาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัว หรืออาจจะเกิดจากการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่ผู้อ่านเคยได้รับมา ตัวอย่างประเภทนี้จะดึงผู้อ่านให้เข้ามาร่วมกับเรื่องที่นำเสนอ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับงานวิจัยนั้น แล้วความรู้สึกนี้จะทำให้เกิดความสนใจติดตามอ่านงานวิจัยนั้นในรายละเอียดจนจบ

นอกจากนั้นการยกตัวอย่างเออ...จริง จะช่วยทำให้ผู้อ่านจดจำงานวิจัยเรื่องนั้นได้ดีอีกด้วย เพราะเรื่องที่คนเราจะจดจำได้แม่นคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองโดยตรง หรือเรื่องที่เราเคยมีประสบการณ์ได้เห็นได้สัมผัสมาแล้ว 

ตัวอย่างเช่น  เมื่อพูดถึงเรื่องการกระจายรายได้พบว่ามีปัญหาอยู่สองด้าน  ด้านแรกคือคนที่จะรับรายได้ (เช่น คนจน) ไม่พร้อมที่จะรับ  และด้านที่สองคือคนที่กุมรายได้อยู่ (เช่น คนรวย) ไม่ปล่อยเงินไปให้กับคนจน   ถ้าฟังดูอย่างนี้แล้วก็อาจจะยังไม่เห็นภาพ  แต่ถ้าบอกว่า  ให้จินตนการเหมือนกับมีคนสองคนกำลังเล่นปาลูกเบสบอลกัน  ถ้าคนหนึ่งไม่พร้อมจะรับบอล  เช่น  ไม่มีถุงมือเบสบอล  อีกคนก็ส่งไปให้ไม่ได้  เพราะคิดว่าปาลูกบอลไปแล้วด้วยความเร็วสูงอีกฝ่ายคงจะใช้มือเปล่ารับไม่ได้แน่ ๆ    ต่อมาถ้าฝ่ายรับลูกไปซื้อถุงมือเบสบอลมาเรียบร้อยแล้วและพร้อมแล้วที่จะรับลูก  ร้องตะโกนว่า ส่งมาเลย    แต่ฝ่ายขว้างไม่ยอมขว้างมาสักที  อิด ๆ ออด ๆ  หวงลูก   ฝ่ายรับก็ไม่ได้รับลูกอยู่ดี  แบบนี้ก็พอจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่า  การแก้ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้จึงอยู่ที่ทั้งสองด้าน  คือ ทั้งด้านเตรียมตัวผู้รับให้พร้อมที่จะรับลูก  และด้านที่จะกระตุ้นผู้ถือบอลให้ตัดสินใจยอมขว้างบอลออกไปให้   

ตัวอย่างดังกล่าวอาจจะยกตัวอย่างเรื่องการส่งลูกฟุตบอลก็ได้ถ้าใครชอบเล่นฟุตบอล

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 9 Precise and concise

รายงานการวิจัยที่ดีจะต้องเขียนให้ตรงเป้า (Precise) และได้น้ำหนักพอดี (Concise) อุปมาเหมือนกับการปามีดไปหาแผ่นเป้า (วาทะอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เปรียบดั่งครูของผม) ที่ต้องได้ทั้งทิศทางที่เข้าเป้าดำและได้น้ำหนักพอดีที่ไม่ทำให้มีดหลุดจากเป้าหรือทะลุเลยแผ่นเป้าออกไป

การเขียนให้ตรงเป้า (Precise) หมายถึง คำถามวิจัยถามว่าอะไรก็ตอบในสิ่งนั้น ไม่เลี่ยงไปตอบในประเด็นอื่น ไม่เว้นไว้ไม่ยอมตอบหรือตอบอย่างคลุมเครือ และตอบคำถามวิจัยได้ครบทุกข้อที่ตั้งไว้ พึงระลึกว่านักวิจัยเป็นนักวิทยาศาสตร์ (แม้แต่สายสังคม ก็ถือว่านักวิจัยทางสังคมเป็นผู้ค้นหาคำตอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เช่นกัน) ไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้นคำถามวิจัยที่เป็นประเด็นทางวิทยาศาสตร์จึงไม่จำเป็นต้องเลี่ยงตอบอย่างนักการเมือง

การเขียนให้ได้น้ำหนักที่พอดี (Concise) หมายถึง การเขียนให้รัดกุม ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป การเขียนมากเกินไปทำให้ผู้อ่านเสียเวลาไปกับข้อมูลที่มากเกินความจำเป็นหรือข้อความที่เยิ่นเย้อน้ำท่วมทุ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่าการช่วยรักษาเวลาให้คนอื่นถือเป็นความสุภาพอย่างหนึ่ง แต่การเขียนน้อยเกินไปจะทำให้ขาดรายละเอียด ทำให้ผู้อ่านไม่สามารถสร้างความคิดในภาพรวมหรือไม่สามารถมองเห็นภาพในรายละเอียดได้มากเท่าที่ควร เหมือนกับภาพยนตร์สืบสวนสอบสวนที่สั้นเกินไปซึ่งคนดูยังไม่ทันจะได้มันส์อย่างเต็มที่ก็จบเสียแล้ว การเขียนที่ตรงประเด็นและได้น้ำหนักพอดีนี้จะทำให้ได้ทั้งความคุ้มค่าและความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 10 คริสตอลเคลียร์

มีน้องนักศึกษาคนหนึ่งเมลมาถามผมเรื่องหาหัวข้อทำวิทยานิพนธ์  แล้วก็เล่าว่าอยากทำเรื่องอะไร  ทั้งกำชับให้ผมตอบกลับว่าดีหรือไม่  ผมก็ไม่ได้เขียนตอบไปเป็นเวลานาน  แต่ก็ยังคิดอยู่ตลอดว่าเรื่องที่น้องคนนั้นต้องการทำเป็นวิทยานิพนธ์ทำไมมันถึงดูติด ๆ ขัด ๆ หรืออาจใช้คำว่าไม่ "ปิ๊ง" ในทันทีที่อ่าน

วันนี้ผมคิดออกแล้วจึงได้มาเขียนตอบและแชร์กับท่านผู้อ่านในเรื่องนี้

สาเหตุที่หัวข้อการทำวิทยานิพนธ์ไม่ปิ๊งในทันทีนั่นก็เพราะความคิดมัน "ไม่เคลียร์"   อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เปรียบดั่งครูของผมชอบพูดชมงานวิจัยของคนโน้นคนนี้ว่า     "คริสตอลเคลียร์ ! " ผมได้ยินแล้วก็คิดว่ามันคงใสมาก  แต่ก็ไม่รู้ความหมายที่ชัดเจนของมัน และไม่ได้จังหวะถามอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เปรียบดั่งครูของผมสักที

คริสตอลเคลียร์  หมายถึง  รู้ว่าจะทำอะไรตั้งแต่ต้นจนจบ  เป็นเหตุเป็นผลกัน และปราศจากอคติอันเกิดจากการเลือกที่รักมักที่ชัง

มันหมายความง่าย ๆ ได้ว่าไอเดียใสปิ๊ง  จนทำให้คนอ่าน ปิ๊ง ไอเดียนั้นไปด้วย

สาเหตุที่วิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยไม่ คริสตอลเคลียร์ ก็เพราะว่า

หนึ่ง  ยังมองไม่เห็นทะลุตั้งแต่ต้นจนจบว่าจะทำอะไร  หรือเรียกว่า "ยังไม่รู้ครบวงจร"

สอง  ยังมีความขัดแย้งกันระหว่างบางสิ่งบางอย่างในเรื่อง  ของบางอย่างก็ทำลงไปโดยไม่มีเหตุผล  

สาม  เลือกทำเฉพาะสิ่งที่ชอบ  และเลี่ยงสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่อยากทำ

สามสิ่งนี้ทำให้อ่านดูแล้วหัวข้อวิทยานิพนธ์นั้นจึงดูไม่เป็นธรรมชาติ  เพราะไม่ได้เป็นไปอย่างที่ธรรมชาติของเรื่องนั้นควรจะเป็น  อ่านแล้วจึงมีคำถามตามมามากมายว่า  ทำไมไม่ทำอย่างนั้น  ทำไมถึงทำอย่างนี้  ซึ่งนักศึกษาก็อึกอักที่จะตอบเพราะบางอย่างไม่รู้  บางอย่างดำน้ำใส่เข้าไปให้เยอะไว้ก่อน  บางอย่างรู้ทั้งรู้ว่าควรทำแต่ก็ไม่อยากทำ

ทางแก้ก็ง่ายมาก  ทำได้ดังนี้

หนึ่ง  พยายามคิดให้จบ  ไม่จำเป็นต้องจบรอบยาว  เอารอบสั้น ๆ ก่อน  เป็นการฝึกคิดให้จบ

สอง  พยายามให้เหตุผลว่าทำไมเราต้องทำ

สาม  อย่าหนีอะไรที่มันดูยาก  เพราะมันอาจจะไม่ยากอย่างที่คิด  เช่น  ตอนผมทำปริญญาโท ผมหนีเรื่อง CGE แทบตาย  ขนาดเพื่อนจูงมือไปเรียนก็ไม่ยอมไป  ตอนนี้เป็นไงต้องนั่งรถไฟไปเรียนไกลแสนไกลทุกสัปดาห์  หนีไม่ออกแล้ว  และเมื่อเราไม่หนีมัน เราก็จะพบว่ามันไม่ได้ยากเกินวิสัยของมนุษย์  อาจารย์ก็ใจดีค่อย ๆ สอน จับมือค่อย ๆ ทำ  เดี๋ยวก็เป็นเอง  แล้วงานวิทยานิพนธ์ก็จะดูดีขึ้นมาก

มาถึงวันนี้แล้วผมมองย้อนกลับไปดูงานวิจัยเก่า ๆ ของผม  ผมถึงเข้าใจอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เปรียบดั่งครูของผมว่าทำไมไม่เคยชมผมว่า คริสตอลเคลียร์ สักที   ก็เพราะว่ามันไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจน  ไม่ได้มีที่มาที่ไปถึงเหตุผล  และมักจะหลบ ๆ หลีก ๆ งานที่ตัวเองไม่อยากทำอยู่เสมอ  

ผมจึงต้องปรับปรุงตัวเองด้วยเหมือนกัน   ในคราวที่นำงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกไปนำเสนอให้อาจารย์ที่ปรึกษาฟังที่เกิร์ทธิงเก้นในวันที่ 4 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา  ผมสลัดอคติของตนเองทิ้งตั้งแต่พบว่าผลการศึกษาออกมาขัดแย้งกันเอง  ผมจำใจต้องยอมรับสภาพว่าผลการศึกษาออกมาไม่ดี  และพยายามหาทางไปต่อที่พอจะเป็นไปได้  ตอนแรกยอมรับว่ามืดมน  แต่ค่อย ๆ คิดไปตามธรรมชาติของเรื่องนั้น  ไม่นานก็เจอทาง  แต่ต้องใช้เทคนิคพิสดารอีกหลายอย่างที่ผมไม่มีความรู้  ผมตัดสินใจลงเรียนทุกอย่างที่ผมไม่รู้เหล่านั้น  ทั้ง ๆ ที่ทำให้เสียเวลา  เสียหน้า  เสียแรง  และเสียเงินอีกเยอะ  แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผมสลัดอคติทั้งหมดออกไปได้   ในที่สุดวิทยานิพนธ์ที่ปราศจากอคติและเรียบเรียงใหม่ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลตั้งแต่ต้นจนจบนั้น  ผมได้นำเสนอไปและได้รับคำชมจากอาจารย์ว่า  Idee ist klar.  แปลว่าความคิดเคลียร์   นั่นแหละคือคำที่ผมต้องการได้ยินในชีวิตการเป็นนักวิจัย

ถึงเวลาที่ผมจะ คริสตอลเคลียร์ กับเขาสักที

ผมว่า  "ความคิดที่เคลียร์"  นี้เองที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการเริ่มต้นทำวิทยานิพนธ์  ดังนั้นสำหรับน้องที่เขียนเมลมาถามผมก็ได้รับคำตอบแล้วนะครับว่าต้องทำให้ความคิดของน้องเคลียร์ก่อนว่าจะทำอะไรตั้งแต่ต้นจนจบ  มีเหตุผลอะไรทำไมต้องทำอย่างนั้น  และอย่าหนีสิ่งที่น้องไม่ชอบหรือไม่อยากทำ  ขอให้ประสบความสำเร็จครับ


ตอบคำถามของแฟนรายการ

เนื่องจากมีแฟนรายการเขียนมาถามอยากให้ขยายความเพิ่มเติมในเรื่องนี้  ผมจึงอยากจะเรียนว่า  คริสตอลเคลียร์  จะเกิดขึ้นในช่วงเสนอโครงร่างงานวิจัย (Proposal)  เมื่ออาจารย์ถามว่า  ทำไมต้องทำเรื่องนี้  และทำไมต้องทำอย่างนี้   ถ้าเราตอบได้ก็ถือว่าเราเคลียร์ในระดับหนึ่ง   ถ้าอึก ๆ อัก ๆ ก็แปลว่ายังไม่เคลียร์

คริสตอลเคลียร์  ยังเกิดขึ้นได้ในช่วงการเสนอผลการวิจัยเบื้องต้น  เมื่อเรื่องบางเรื่องอยู่นอกเหนือจากสิ่งที่เคยคุยกันไว้ในช่วงเสนอโครงร่างงานวิจัย  หรือพูดง่าย ๆ ว่าทำเกินกว่าที่พูดไว้  หรือทำนอกเหนือไปจากที่พูดไว้   แล้วถ้าอาจารย์ถามว่า  ทำไมต้องทำจุดนี้ และทำไมต้องทำอย่างนี้   หากตอบได้ก็ถือว่าเคลียร์  

คริสตอลเคลียร์  ยังเกิดขึ้นได้อีกในช่วงนำเสนอผลการวิจัย   การที่นักวิจัยสามารถอธิบายได้ตั้งแต่ต้นจนจบว่า  ทำเรื่องอะไร  ทำไมต้องทำเรื่องนั้น  ทำด้วยวิธีอะไร  ทำไมต้องทำด้วยวิธีนั้น   ได้ผลออกมาว่าอย่างไร   ทำไมถึงได้ผลออกมาเป็นเช่นนั้น  และสรุปแล้วค้นพบอะไร   หากสามารถอธิบายได้ชัดเจนก็ถือว่าเคลียร์

ตัวอย่างของงานวิจัยที่ถือว่าคริสตอลเคลียร์   ให้ลองดูวิทยานิพนธ์ที่สอบผ่านแล้ว  ซึ่งย่อมต้องเคลียร์   หากไม่เคลียร์ก็คงจะไม่สามารถสอบผ่านได้    นอกจากนั้นให้ลองดูในวารสารวิชาการที่มีคณะกรรมการกลั่นกรอง   เพราะหากได้รับการตีพิมพ์ย่อมแสดงว่าเคลียร์ในระดับหนึ่ง

สิ่งที่ยังอาจจะไม่เคลียร์  เช่น  โครงร่างวิทยานิพนธ์  อาจจะสอบผ่านแต่ยังไม่เคลียร์  เพราะว่าอาจารย์อาจจะให้ลองทำดูก่อนแล้วดูว่าจะพบปัญหาติดขัดตรงไหน    อีกอย่างคือบทความที่เสนอในการประชุมวิชาการ  ที่เรียกว่า  Proceeding  ซึ่งอาจจะยังไม่เคลียร์  เพราะว่าส่วนหนึ่งเป็นการเสนอผลงานที่เสร็จใหม่ ๆ  ที่ต้องการคอมเม้นท์จากผู้ฟังไปปรับปรุงงานให้ดีขึ้น 

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 11 พลังของ Proposal

ในเทศกาลส่ง Proposal เพื่อคว้าทุนวิจัยที่เยอรมันมีความดุเดือดและสนุกสนานปนกับความเครียด  แม้แต่ที่สถาบันที่ผมอยู่ก็ยังต้องแข่งขันชิงส่วนแบ่งเค้กกันเพราะมีเงินทุนอยู่ก้อนหนึ่งแล้วต้องแบ่งกันทุกคน  ใครที่ทำ Proposal ได้น่าสนใจก็จะได้เยอะกว่าคนอื่น  นักศึกษาปริญญาเอกรุ่นใหม่ก็เลยต้องพยายามเค้นสิ่งที่มีทั้งหมดมาเพื่อทำให้ Proposal มีพลัง  ผมโชคดีที่ผ่านมาแล้วเมื่อสองปีก่อนและได้เงินทุนวิจัยมาพอสมควร  ปีนี้ได้เห็นการแข่งขันของรุ่นน้องทำให้ได้มุมมองเรื่องพลังของ Proposal  ที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง

Proposal จะมีพลังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบดังต่อไปนี้

หนึ่ง   ผู้เขียนจริงจังกับประเด็นที่เขียน  (Concentration)

คือ ถ้าใครยังไม่รู้ว่าชอบเรื่องอะไร ยังวิ่งไปทางโน้นที ทางนี้ที รับรองว่าจะเขียน Proposal ไม่เสร็จ เพราะโลภมาก และแปลได้ว่าไม่จริงจังสักเรื่อง  ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวอาจแก้ตัวว่าก็เพราะผมจริงจังหลายเรื่อง

สถาบันก็จะตอบว่า  คุณก็จะไม่ได้เรื่องสักเรื่อง  และก็ไม่ได้เงินสักเรื่อง

มีคำถามที่ถามกันเป็นปกติที่สถาบันฯ ว่า What are you working on?  "คุณกำลังทำเรื่องอะไร" ถ้าตอบไม่ได้คนจะมองว่า คนนี้ยังไง)

สอง   ประเด็นที่เขียนเป็นเรื่องจริงจัง    (A serious topic)   

นี่มักเป็นปัญหา เพราะไม่รู้ว่าเรื่องที่ตัวเองทำมันมีจุดที่ต้องไปจริงจังกับมันตรงไหน

(ลองถามเจ้าตัวดูง่าย ๆ ว่า "อะไรที่คุณจริงจัง" What are you serious about?   

ถ้าตอบแบบมีพลังออกมาจากข้างในและมีเหตุผลน่าฟัง ก็ OK)

สาม   วิธีการศึกษาเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีหลักการเป็นเหตุเป็นผล  (Scientific)

สี่  เห็นช่องที่จะเสนอแนะเชิงนโยบาย  เพื่อให้เกิดการลงมือทำอะไรบางอย่างต่อไป  (Lead to ACTION)

ห้า สามารถทำเสร็จได้ในกรอบเวลาและงบประมาณที่สมควร (Concise)

ภาษาอังกฤษเรียกคุณสมบัติทั้ง 5 อย่างว่า  SOLID  (โซ-หลิด) แปลว่า  แน่น

 

Proposal ที่ไม่มีพลังมักจะเป็นอย่างนี้

หนึ่ง    ลองเอาเครื่องมือมาจับกับข้อมูล (ดูเล่น ๆ)  ซึ่งผลออกมาก็คือ  โอ้ มันเป็นอย่างนั้นด้วย  (แต่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร)

คิดแต่จะจบ หรือจะทำให้เสร็จ  ไม่มีมิติทั้งความกว้างและความลึก  ไม่สามารถนำไปสู่การลงมือทำอะไรบางอย่างได้

สอง    ใช้วิธีการศึกษาตามใจข้าพเจ้าเอง  ใช้วิธี descriptive พูดเอง เออเอง ไม่มีหลักการของการให้เหตุผลเพื่อสนับสนุนหรือแย้งอย่างเป็นตรรกะ

สาม    ไม่ยอมทำในสิ่งที่ควรจะต้องทำ  เช่น  เลี่ยงใช้เครื่องมือบางอย่างที่ตัวเองไม่รู้  เลี่ยงไปเก็บข้อมูล  เลี่ยงศึกษาในประเด็นบางอย่างที่สำคัญ

สี่ อ่านมาไม่มาก  ทำให้ตามแนวคิดหรือทฤษฎีใหม่ ๆ ไม่ทัน  ตามประเด็นไม่ทัน 

ห้า กว้างเกินไป  อะไรก็อยากจะทำหมด  ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถเสร็จทันเวลาได้สักอย่าง

ภาษาอังกฤษเรียกคุณสมบัติทั้ง 5 อย่างว่า  TRIVIAL  (ไทร-เวียล)  แปลว่า  หลักลอย

 

เวลาที่เห็นใคร ๆ เสนอ Proposal ก็ดูตามนี้เลยว่าจะผ่านหรือไม่  หรือจะได้เงินทุนหรือไม่  ที่เยอรมันเวลาได้ทุนวิจัยก็เป็นเงินเป็นทอง  แถมไม่พอบางโครงการที่ทำต่อเนื่องสัก 5 ปีก็ให้ตำแหน่ง Junior Professor แถมด้วยเลย   

ผลงานวิจัยที่ทำออกมาจาก Proposal ที่มีพลังมักจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการได้อย่างง่ายดาย

รางวัลทุกอย่างนี้เริ่มต้นจาก Proposal ที่มีพลัง

ลองฝึกดูกันนะครับ

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 12 หาทุนวิจัยได้อย่างไร

เคล็ดลับง่าย ๆ ก็คือนักวิจัยที่จะหาทุนวิจัยได้นั้นต้องทำงานหนักว่านักวิจัยที่หาทุนวิจัยไม่ได้  ต้องมี Proposal ที่ดีไว้ในมือ  พร้อมที่จะเปลี่ยนมันเป็นทุนวิจัย

อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เปรียบดั่งครูของผมเปิดเผยว่า Proposal ของอาจารย์ขายออกทั้งหมด อยู่ที่ว่าจะเป็นเมื่อไรที่จะพบกับคนที่เห็นคุณค่าของงานนั้น หรือเมื่อไรที่สถานการณ์จะสุกงอมและงานนั้นอยู่ในความสนใจของประเทศ (เพราะบางทีอาจารย์มองเห็นอนาคตอันไกลออกไปมาก ทำให้คนอื่นยังตามไม่ทันและไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาให้ต้องทำวิจัยในขณะนั้น) นักวิจัยที่จะได้ทุน คือ นักวิจัยที่มีวิสัยทัศน์มองเห็นอนาคตว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป อะไรน่าเป็นห่วง อะไรจะเป็นประเด็นโต้แย้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ซึ่งจะต้องการใช้ผลการวิจัยเป็นเครื่องนำทางสำหรับการอภิปรายและหาทางออก แล้วนักวิจัยก็ต้องทำงานหนัก คือ เขียน Proposal ที่ดีไว้สามเท่า ( Proposal ที่ดีในที่นี้ คือ อย่างน้อยก็ต้องเขียน Literature review ให้ดี ท่านสามารถอ่านวิธีเขียน Literature review ได้ที่เกร็ดการทำวิจัยตอนที่ 2) ซึ่งโดยทั่วไปผู้ให้ทุนก็ไม่อยากจะปฏิเสธของดี ดังนั้น เมื่อทำได้อย่างนี้แล้ว นักวิจัยก็มีโอกาสที่จะได้ทุนวิจัยมากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งคือการทำวิจัยนั้นเหมือนการรับเหมาก่อสร้าง นักวิจัยเปรียบเหมือนผู้รับเหมา หากลูกค้าไว้วางใจก็จะให้งานมาทำ แต่หากไม่วางใจ ต่อให้เก่งแค่ไหนก็คงจะไม่ได้งาน ความไว้วางใจในที่นี้ประกอบด้วยความซี่อสัตย์ ความตรงต่อเวลา ความเฉียบแหลมในการวิเคราะห์สรุปผลและเสนอแนะ การมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า การคำนึงถึงส่วนได้ส่วนเสียของลูกค้า และการเอาใจใส่ให้บริการลูกค้าเป็นอย่างดี เป็นต้น  

อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เปรียบดั่งครูของผมเน้นย้ำกับผมว่าถ้าต้องการได้ทุนวิจัย  ต้องเป็นคนที่ทำงานดี  ส่งงานทันตามกำหนด  งานต้องเสร็จ  ปิดงานได้  ลูกค้าไว้เนื้อเชื่อใจ  ทำให้ผู้ให้ทุนรัก  บวกกับหาทุนที่เหมาะสมกับเรา   ต้องทำเรื่องที่เข้าทางเรา  และสุดท้ายของท้ายสุด  ต้องบอกได้ว่าทำไมต้องเป็นเรา   

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 13 นักวิจัย vs. ที่ปรึกษา

นักวิจัยส่วนหนึ่งทำวิจัยเพื่อก้าวสู่การเป็นที่ปรึกษา ที่ปรึกษาคือผู้ที่รอบรู้ความสัมพันธ์ต่าง ๆ อย่างรอบด้านในเรื่องนั้น ๆ เป็นผู้มีความรอบรู้ในองค์รวม คือ รู้ว่าหากแตะสิ่งหนึ่งแล้วจะกระทบไปยังสิ่งไหนบ้าง และรู้ขนาดของผลกระทบว่าจะแรงหรือเบาแค่ไหน ทำให้รู้ว่าสิ่งใดควรแตะและสิ่งใดไม่ควรแตะ

ส่วนนักวิจัยคือผู้ค้นหาความสัมพันธ์ของประเด็นต่าง ๆ ด้วยการทดลอง การสำรวจ และการทดสอบ นักวิจัยหาหลักฐานมาเพื่อเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรบางอย่าง นักวิจัยวัดดูว่าหากแตะสิ่งนี้แล้วจะเกิดผลกระทบไปถึงเรื่องไหนบ้างและรุนแรงแค่ไหน นักวิจัยจึงสร้างองค์ความรู้ว่าสิ่งใดเป็นจริง สิ่งใดไม่เป็นจริง และสิ่งใดที่ยังไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง

ที่ปรึกษาจะลงท้ายที่ข้อเสนอแนะที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ส่วนนักวิจัยไม่จำเป็นต้องเสนอแนะอะไร เพราะหน้าที่หลักของนักวิจัยคือค้นหาคำตอบของข้อสงสัย เช่น สิ่งนี้เป็นเหตุให้เกิดสิ่งนั้นหรือไม่ คำตอบคือใช่หรือไม่ใช่ และเหตุผลว่าเพราะอะไร แต่ไม่จำเป็นต้องเสนอแนะใครให้ทำอะไร ส่วนที่ปรึกษามีหน้าที่เสนอแนะว่าควรหาทางออกต่อเรื่องนั้น ๆ อย่างไร กระนั้น ที่ปรึกษาจะเสนอแนะได้นั้นต้องอาศัยองค์ความรู้ที่ได้ทดสอบมาแล้วจากงานวิจัย

ที่ปรึกษาอาจจะไม่ได้เป็นนักวิจัยมาก่อนแต่อาจจะอ่านงานวิจัยมากและรอบรู้ในเรื่องนั้น ส่วนนักวิจัยก็อาจจะไม่ได้เป็นที่ปรึกษาหากไม่มีองค์ความรู้อย่างรอบด้านที่ครอบคลุมเรื่องราวทั้งระบบและครบวงจร ด้วยเหตุนี้การจ้างที่ปรึกษาจึงอาจจะจ้างเป็นคณะที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยหลาย ๆ ด้านมาร่วมงานกันเพื่อให้ได้องค์ความรู้ครอบคลุมทุกเรื่องที่ต้องการให้เสนอแนะ

อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เปรียบดั่งครูของผมเคยยกตัวอย่างว่า นักวิจัยเหมือนกับคนที่ตักน้ำใส่ตุ่ม ที่ปรึกษาเหมือนกับคนที่นำน้ำในตุ่มออกมาใช้ประโยชน์ จึงหมายความได้ว่านักวิจัยทำงานเพื่อรวบรวมองค์ความรู้และตอบข้อสงสัยบางอย่างทางวิชาการ ส่วนที่ปรึกษานำองค์ความรู้ทางวิชาการและความรอบรู้ในเรื่ององค์รวม มาเสนอแนะเพื่อหาทางออกต่อปัญหาบางอย่างในทางปฏิบัติด้วยความเป็นกลางทางการเมือง 

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 14 อาชีพที่ต้องทำ 24 ชั่วโมง

อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เปรียบดั่งครูของผมเคยสอนผมว่า อาชีพนักวิจัยเป็นอาชีพที่ต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง เพราะต้องคิดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเวลาอาบน้ำ แปรงฟัน ทานอาหาร หรือแม้แต่ดูโทรทัศน์ ทั้งคิดในเรื่องที่กำลังทำวิจัยติดพันอยู่ และในเรื่องที่คิดจะขอทุนวิจัยในอนาคต  

เรื่องนี้จริงหรือไม่จริงก็ขอให้ลองมองดูอาร์คีมีดีส ผู้ที่ฉลาดที่สุดในโลกในสมัยหนึ่ง ซึ่งคิดเรื่องการหาปริมาตรมงกุฎทองคำด้วยการแทนที่น้ำได้เมื่อเขาก้าวตัวลงไปในอ่างอาบน้ำ แล้วเมื่อคิดออกก็วิ่งแก้ผ้าออกมาจากห้องอาบน้ำ (ซึ่งผู้คนสมัยนั้นไม่ถือกัน) แล้วตะโกนว่า ยูเรกา ข้ารู้แล้ว

นักวิจัยจะมีนิสัยคล้าย ๆ กันคือความคิดจะไหลออกมาในเวลาใดเวลาหนึ่งอย่างรวดเร็วเหมือนสายน้ำที่ไหลออกมาไม่ยอมหยุด ในเวลานั้นนักวิจัยจะสามารถเขียนงานได้อย่างต่อเนื่องและได้ปริมาณงานมากอย่างประหลาด แต่ในเวลาอื่นนักวิจัยคนเดียวกันอาจจะคิดอะไรไม่ออก แม้ว่าจะพยายามทำงานมากเพียงใดก็ตาม

ปัญหานี้เกิดขึ้นก็เพราะการวิจัยเป็นกระบวนการบ่มเพาะความคิด นักวิจัยที่รับข้อมูลเข้ามาเรื่อย ๆ ทุกวันและเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้เรื่อย ๆ แต่นักวิจัยอาจจะเหน็ดเหนื่อยกับภารกิจประจำวัน (โดยเฉพาะเรื่องการเงินของโครงการที่ยุ่งยากและหยุมหยิมมาก ขอแนะนำให้จ้างผู้ช่วยคนหนึ่งขึ้นมาเพื่อจัดการเอกสารการเงิน ซึ่งงานนี้ก็คงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องทำ 24 ชั่วโมงเช่นกัน) นักวิจัยจึงไม่สามารถมุ่งความสนใจไปยังเรื่องใดเรื่องหนึ่งในเชิงลึกได้ตลอดเวลา แต่ความสนใจในเรื่องที่วิจัยยังค้างอยู่ในสมองและในจิตใจ เมื่อมีสิ่งใดมาเปิดลิ้นชักความคิดนั้นออกมา ย่อมทำให้ความคิดที่บ่มเพาะอยู่พรั่งพรูออกมาจากลิ้นชักนั้น โดยเฉพาะในเวลาที่ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย

การฟังเพลงหรือร้องคาราโอเกะก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยทำให้คลื่นสมองของนักวิจัยเกิดความเป็นระเบียบมากขึ้น การอ่านออกเสียง (คือ การร้องเพลงโดยการอ่านเนื้อร้องจากคาราโอเกะ) จะทำให้สมองทั้งสองซีกทำงานไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเหมาะกับนักวิจัยคือต้องประสานความสามารถทั้งศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน

ดังนั้นการเป็นนักวิจัยจึงไม่ใช่งานที่จะเริ่มทำตอน 8 โมงเช้า และเลิกงานตอน 5 โมงเย็นได้ ผู้ที่อยากเป็นนักวิจัยจึงต้องทำใจในจุดนี้ คนที่ให้ทุนทำวิจัยก็ควรจะเข้าใจในจุดนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น บิลล์ เกตส์ บอกว่าให้อิสระแก่หน่วยงานวิจัยของไมโครซอฟท์ผลิตผลงานออกมาโดยไม่มีกรอบเวลามาบังคับ คือ งานวิจัยจะออกมาเมื่อไรก็ได้ ซึ่งได้ผลกว่าการบังคับให้รีบทำงานออกมา และก็เห็นแล้วว่างานวิจัยของไมโครซอฟท์ทำให้บริษัทนี้ยิ่งใหญ่คับโลกขนาดไหน อีกตัวอย่างคือในยุโรป เขามักให้เวลาทำวิจัยเรื่องหนึ่ง 5 ปี เมื่อเสร็จสิ้นโครงการไม่เพียงแต่ได้ผลงานวิจัยที่ลึกซึ้งแต่ยังได้นักวิจัยที่รู้ลึกในเรื่องนั้นด้วย เขาจึงมักให้ตำแหน่ง Junior Professor แก่นักวิจัยหลังจากทำงานเสร็จ ผมก็สนับสนุนการให้ทุนในระยะยาวเช่นนี้เหมือนกันเพื่อเพิ่มความลึกซึ้งในผลการวิจัยที่จะออกมาและเพิ่มผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับจากการลงทุนทำวิจัย

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 15 งานวิจัยที่อ่อนไปดูตรงไหน

งานวิจัยที่ดีเป็นอย่างไร การจะบอกว่างานวิจัยที่ดีเป็นอย่างไรนั้นอาจจะยากกว่าการบอกว่างานวิจัยอ่อนไปเป็นอย่างไร เพราะงานวิจัยที่ดีคืองานวิจัยที่ไม่อ่อนไป แล้วงานวิจัยที่อ่อนไปดูกันอย่างไร  

งานวิจัยที่อ่อนไปคืองานวิจัยที่การสรุปผลอ่อนไป การสรุปผลอ่อนไปเพราะการวิเคราะห์อ่อนไป การวิเคราะห์อ่อนไปเพราะฐานข้อมูลอ่อนไป

ความอ่อนไปของฐานข้อมูล การวิเคราะห์ และการสรุปผล เกิดจากกรอบแนวคิดหรือทฤษฎีที่อ่อนไป บวกกับวิธีการศึกษาที่อ่อนไป

กรอบแนวคิดหรือทฤษฎีที่อ่อนไป และวิธีการศึกษาที่อ่อนไป ทั้งหมดนี้เกิดจากคำถามวิจัยที่อ่อนไป

คำถามวิจัยที่อ่อนไปมีอย่างน้อยสิบประเภท ดังต่อไปนี้

ศูนย์  ตั้งคำถามผิด  ถามในสิ่งที่ไม่ใช่คำถาม  เช่น  คำถามวิจัยของเรื่องนี้คือการสร้างแบบจำลองแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจส่วนอื่นของประเทศ   สิ่งที่ควรถามคือเมื่อได้แบบจำลองมาแล้วจะตอบอะไร

หนึ่ง คำถามวิจัยที่มีคำตอบไปแล้ว (แล้วยังเผลอไปทำซ้ำ)

สอง คำถามวิจัยที่หาคำตอบไม่ได้ (อจินไตย)

สาม คำถามวิจัยที่ได้คำตอบมาแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรต่อ (คำถามที่ให้คำตอบประเภท "แล้วไง")  

สี่ คำถามวิจัยที่นำไปสู่คำตอบหนึ่งอย่างแน่นอน ( อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เปรียบดั่งครูของผมเคยตำหนิผมโดยใช้ประโยคว่า Leading question leads you to nowhere.)

ห้า คำถามที่ต้องการรู้อยู่คนเดียว ไม่มีใครอยากรู้ด้วย หรือล้าสมัยไปแล้ว (เพราะจะไม่ได้ทุน ต้องควักเงินตัวเองทำ)

หก คำถามที่เล็กน้อยเกินไป ไม่มีความสำคัญ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Trivial และคนหนุ่มที่มักจะคิดแต่เรื่องอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เกินไปก็มักถูกเรียกว่า A trivial young man)

เจ็ด คำถามที่กว้างมากจนไม่มีทางทำเสร็จในเวลาที่กำหนด

แปด คำถามที่ตอบได้ตามอำเภอใจ (subjective) ไม่มีมาตรวัดที่เป็นวิทยาศาสตร์ (objective)

เก้า คำถามที่ตอบเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็วตามกาลเวลา (วันนี้ได้คำตอบอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้ได้คำตอบอีกอย่างหนึ่ง)

สิบ คำถามที่ไม่มีใครอยากตอบ (บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่สังคมไม่อยากพูดถึง ถึงพยายามหาคำตอบก็ไม่มีใครอยากตอบ หรือไม่กล้าตอบ ถึงรู้คำตอบก็ไม่มีใครอยากฟัง หรือไม่มีใครอยากเชื่อ การวิจัยทางสังคมจะได้รับผลกระทบจากคำถามประเภทนี้มากกว่าทางวิทยาศาสตร์ เพราะประเด็นทางสังคมเป็นเรื่องของคน จึงมีความละเอียดอ่อนมากกว่าทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนอยู่บนความจริงเท่านั้น ความจริงทางสังคมบางอย่างก็ไม่มีคนเชื่อว่าเป็นความจริง การทำวิจัยประเภทนี้ออกมาจึงอาจจะไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นในสังคม เพราะสังคมไม่ยอมรับฟังคำตอบนั้น)

ดังนั้นงานวิจัยที่ดีต้องดีตั้งแต่ตั้งคำถามวิจัย การจะแก้ไขงานวิจัยให้ดีก็ต้องเริ่มแก้ไขกันที่การตั้งคำถามวิจัย สูงสุดจึงคืนสู่สามัญ สิ่งที่ดูเหมือนจะง่ายที่สุดกลับกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการวิจัย

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 16 กล้าเอาผลวิจัยไปใช้ไหม

เราทำวิจัยกันมาก็มาก แต่เมื่อถึงเวลาเอาไปใช้ประโยชน์ ถามตรง ๆ กับผู้ที่ทำวิจัยเรื่องนั้นออกมาว่ากล้าเอาผลวิจัยไปใช้ไหม

หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจ แน่นอนว่ามันหมายถึงกำไรหรือขาดทุน ซึ่งหากพลาดอาจจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อบริษัท

หากเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ก็แน่นอนว่าหมายถึงระบบเศรษฐกิจจะรุ่งเรืองหรือปั่นป่วน ซึ่งหากพลาดก็อาจจะก่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำผสมกับเงินเฟ้ออย่างรุนแรง

หากเป็นเรื่องหุ้น ก็อาจจะทำให้ถึงกับเจ๊งหมดตัว 

นักวิจัยไม่ใช่ทำวิจัยเพื่อให้เสร็จ ๆ ไป หรือสักแต่ว่าเสนอแนะอะไรไป   แต่ยังต้องถามตัวเองด้วยว่ากล้าไหมที่จะ  "กินยาของตัวเอง"  ถ้าเราเป็นคนที่ต้องมีส่วนได้เสียกับเรื่องนั้น

ความมั่นใจเรื่องการนำผลวิจัยไปใช้เป็นเรื่องที่ทำให้นักวิจัยสองคนต่างกันได้ราวกับแสงอาทิตย์กับแสงดาว    คนที่ทำวิจัยจนมั่นใจและกล้ารับรองผลการวิจัยของตนเองว่าจะใช้ได้จริง  จะกลายเป็นนักวิจัยที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้อย่างไม่ต้องสงสัย

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 17 งานวิจัยขึ้นหิ้งสิบประการ

คำว่าขึ้นหิ้งเป็นคำสบประมาทที่ร้ายแรงสำหรับวงการวิจัย   แปลว่าทำวิจัยไปแล้วก็เท่านั้น  ไม่เห็นเอาไปใช้ทำอะไรได้  

สาเหตุที่งานวิจัยขึ้นหิ้งมีสิบประการ ได้แก่

  1. ไม่ได้ตั้งใจให้ใครเอาไปใช้ทำอะไรอยู่แล้ว
  2. ตั้งใจให้มีคนเอาไปใช้ แต่ไม่ได้ตรงกับสิ่งที่คนต้องการ
  3. ใช้สถิติผิดอย่างร้ายแรงจนเกิดความบิดเบือน  อธิบายผลไม่ได้   กลายเป็นภาพมายาไม่น่าเชื่อถือ
  4. ไม่มีอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนั้นในเมืองไทย
  5. ไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่ หรือที่แย่กว่าก็คือไม่ได้ค้นพบอะไรเลย 
  6. เขียนให้ซับซ้อนไว้ก่อนจึงเกิดความงงทั้งคนทำคนอ่าน  เลยไม่รู้จะเอาไปใช้อย่างไร
  7. ข้อเสนอที่ได้จากงานวิจัยเป็นเรื่องที่เกินวิสัยของมนุษย์จะทำได้หรือเสี่ยงเกินกว่าที่จะลองทำ
  8. ล้าสมัยทันทีที่ทำเสร็จ
  9. ขัดผลประโยชน์ผู้มีอำนาจ
  10. ตอบคำถามที่ไม่ดี 

ทางแก้ไขก็แก้ที่สาเหตุทั้งสิบประการ   เรียงตามลำดับได้แก่

  1. ตั้งใจก่อนว่าต่อไปนี้เราจะทำวิจัยที่เอาไปใช้ได้จริง ๆ ไม่ใช่ทำเล่น ๆ แล้วเราจะไม่ทำของเล่นแล้ว
  2. ลงพื้นที่ไปถามคนที่เราตั้งใจจะให้เอาไปใช้ก่อนว่าเขาต้องการหรือไม่ ถ้าไม่  แล้วเขาต้องการอะไรกันแน่   ถามย้ำว่าเขาต้องการคำตอบเรื่องนี้แน่นะ  เอาจริง ๆ ละนะ   อย่าไปเขียนมั่วว่าผู้นำผลการวิจัยไปใช้  ได้แก่  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย    กรมการพัฒนาชุมชน    ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักเขาเลย  ไม่เคยถามเขาเลยว่าอยากได้คำตอบเรื่องนี้ไหมตำรากล่าวว่าให้ผู้ใช้งานวิจัยมีส่วนร่วมในการทำวิจัยตั้งแต่แรก   ซึ่งถ้าทำได้ก็ดี  แต่เราก็ต้องไปทำความรู้จักกับเขาตั้งแต่ก่อนเริ่มเขียน Proposal     ตัวอย่างงานวิจัยเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาล้านนาที่คุณศิริพร  ศรีชูชาติ เป็นหัวหน้าโครงการ  เป็นเรื่องหนึ่งที่คุยกับผู้ประกอบการและชาวบ้านก่อนที่จะเขียนออกมาเป็น Proposal  แล้วก็ได้ A  จากสภาวิจัยแห่งชาติ  ซึ่งตอนนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายก็รอผลการวิจัยที่กำลังจะออกมาอย่างใจจดใจจ่อ  เพราะเขาเตรียมจะเอาไปทำโปรแกรมทัวร์กันแล้ว
  3. ระวังเรื่องสถิติเศรษฐมิติ หรือการวิเคราะห์เชิงปริมาณ   ถ้าไม่แน่ใจว่ารู้จริง ๆ ก็แนะนำให้มีที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้ในวงการไว้ในทีม   ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็อาจจะไปศึกษาเพิ่มเติมในคอร์สที่เขาเปิดให้อาจารย์หรือนักวิจัยเข้าไปเรียนได้  ตอนสอนหนังสืออยู่ผมเคยไปเรียนนิวรอลเน็ตเวิร์คส์กับนักศึกษาปริญญาตรีที่ภาควิชาคณิตศาสตร์มาแล้วทั้งเทอม   คนงงกันใหญ่ว่าอาจารย์มาเรียนทำไม  ผมก็ว่าอยากรู้อยากเอาไปใช้  ซึ่งได้ผลดีมาก  ผู้สอนก็ไม่ใช่ใครที่ไหน  อาจารย์ไกรศรนั่นเอง   เราก็ทำหน้าเด็ก ๆ เข้าไว้จะได้กลมกลืน   แล้วก็ตั้งใจเรียนอย่าขาด   ที่เยอรมันก็เดินทาง 667  กิโลเมตรจากบอนน์ไปคีล  เพื่อเรียน CGE  กับผู้เชี่ยวชาญขนานแท้สัปดาห์ละวัน   ถ้ามีให้เรียนและเขายอมให้เรียนก็ไปเรียนเถอะครับ     ทุกคนไม่แก่เกินเรียน  อย่าถือตัวจนเกินไปโดยเฉพาะช่วงที่อายุยังไม่ถึง 45  เพราะคนที่สอนเรายังแก่กว่าเราเยอะ
  4. พยายามทำอะไรที่สร้างให้เป็นจริงได้ในเมืองไทยจะดีกว่า  ไม่อย่างนั้นต้องขายให้เมืองนอกอย่างเดียว  ถ้ามีช่องทางขายก็ดีไป  ถ้าไม่มีก็ขึ้นหิ้งต่อไป 
  5. ถ้างานวิจัยไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่ก็ลำบากเลย มักต้องทำส่วนอื่นเพิ่มให้ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบและหวังว่าจะพบอะไรที่ดีกว่าเดิม  ซึ่งก็เป็นรื่องใหญ่  เพราะงบประมาณและเวลามักไม่พอ   ถ้าไม่มีเงินเหลือแล้วนักวิจัยก็จะต้องก้มหน้าเสนอผลการวิจัยที่ไม่ได้ค้นพบอะไรนั้นไป  ซึ่งรับรองว่าได้ขึ้นหิ้งแน่    
  6. อย่าเขียนรายงานให้ซับซ้อนเขียนให้อ่านง่ายไว้ก่อน  แล้วลองให้เพื่อนอ่านดูว่าเข้าใจไหม  (Peer review)  ไม่ต้องอาย  และไม่ต้องโกรธเพื่อนถ้าเพื่อนบอกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง   เพราะขนาดเพื่อนยังอ่านไม่รู้เรื่องแล้วใครจะอ่านรู้เรื่อง   ต้องรีบกลับมาปรับปรุง
  7. หา Second best solution  ที่มนุษย์พอจะทำได้และไม่เสี่ยงเกินไป    ถ้ายังทำไม่ได้ก็หา Third best solution  ลดลงไปเรื่อย ๆ จนกว่ามนุษย์จะทำได้และกล้าลองทำ   เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราเสนอแนะด้วยว่าเขาจะเอาไปทำได้  ไม่ใช่เสนอแนะให้เสร็จไปอย่างนั้น  ใครจะทำได้ไม่ได้อีกเรื่อง  อย่างนั้นก็สมควรโดนขึ้นหิ้ง
  8. ถ้ารู้ว่าจะล้าสมัยแต่เริ่มทำไปแล้วก็ให้รีบทำให้เสร็จโดยเร็วต่อไปเรื่องที่รู้แน่ ๆ ว่าจะล้าสมัยทันทีหลังจากผ่านไปหนึ่งหรือสองปีก็อย่าไปทำ   ถ้าไม่รู้มาก่อนแล้วเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้มันล้าสมัย  ก็ยกระดับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ไป  บางทีนักประวัติศาสตร์อาจจะสนใจ  ต้องเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย
  9. ถ้าขัดผลประโยชน์ผู้มีอำนาจก็ช่วยกันภาวนาให้เปลี่ยนตัวผู้มีอำนาจที่ยอมรับผลการวิจัยได้มาบริหารบ้านเมืองแทนอย่าพยายามเปลี่ยนผลการวิจัยให้เป็นไปตามสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการ   เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องทำวิจัย   ให้เขาสั่งลงไปเลยดีกว่าว่า  Do it now!  และผู้สั่งรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว  นักวิจัยไม่ต้องเอาคอไปแขวนด้วย 
  10. ตั้งคำถามวิจัยให้ดีก่อนเสมอ

    เมื่องานวิจัยก็ตั้งคำถามดีแล้ว  คนที่จะเอาไปใช้ก็มีแล้ว  เขาก็บอกว่าอยากได้คำตอบจริง ๆ  เราก็ทำออกมาทุกอย่างตามแบบแผนวิจัยที่ดีทั้งหมด  เมื่อได้คำตอบมาแล้วยังไม่ล้าสมัยเกินไป  และสามารถเสนอแนะอะไรบางอย่างที่มนุษย์พอจะทำได้   เขียนรายงานให้อ่านเข้าใจง่าย   แบบนี้ถ้ายังขึ้นหิ้งอีกก็คงต้องขอซื้อหิ้งนั้นแล้วแหละครับเพราะดูดงานวิจัยเก่งจริง ๆ  เผื่อเอามาไว้ที่ห้องทำงานแล้วจะได้ดูดเงินทุนวิจัยเข้ามาเรื่อย ๆ บ้าง   
เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 18 มายาคติที่หลอกตานักวิจัยและทางแก้ไข

ตัวเลขข้อมูลดิบชุดเดียวกัน   คนอาจจะไม่ทราบว่าสามารถคำนวณผลลัพธ์ออกมาได้หลายแบบ บางครั้งเราคิดไปว่ามันคำนวณออกมาได้แบบเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเป็นแบบอื่นไปได้   แล้วเราก็จำผลลัพธ์ที่เราคำนวณออกมานั้นไว้เรื่อย ๆ ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น   โดยไม่เคยเฉลียวใจว่ามันอาจจะเป็นอย่างอื่นได้ด้วย

ภาพติดตานักวิจัยนี้ลบกันยาก   เพราะเมื่อเราได้ลองเชื่ออะไรลงไปสักอย่างแล้ว ก็ยากจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อนั้น   ซึ่งหากเป็นความเชื่อที่ผิด มันก็จะนำเราไปสู่ทางที่ผิดไปเรื่อย ๆ เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า "หลงทางเสียเวลา"    หรือถ้าเป็นนวนิยายไซอิ๋วก็ต้องบอกว่า หลงเข้าไปในแดนมายาของปีศาจแมงมุม

วิธีแก้เรื่องมายาคติก็คือ พยายามนำเสนองานบ่อย ๆ แล้วให้เหตุผลกับตัวเองด้วยวิธีใหม่ ๆ อยู่เสมอ อย่าท่อง   แต่ต้องใช้ความมีเหตุมีผล   เหตุผลที่ทำให้เราเชื่อได้   และเหตุผลที่ทำให้คนอื่นเชื่อได้   เมื่อทุกอย่างสมเหตุสมผล เราก็พอจะมั่นใจได้ว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นไม่ใช่มายาคติ     แต่ถ้าเราสะดุดที่ไหนสักแห่งซึ่งไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้   นั่นเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายว่าเรากำลังเข้าถ้ำปีศาจแมงมุมเข้าแล้ว

การคำนวณอะไรบางอย่างออกมาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความเชื่อ จะทำให้เราหาเหตุผลมาสนับสนุนหรือคัดค้านสิ่งที่เคยเชื่อมาแต่เดิม   แล้วมายาคตินั้นอาจจะสลายไปได้

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 19 สิ่งที่รับไม่ได้เลยในการทำวิจัย

สิ่งที่รับไม่ได้เลยในการทำวิจัย วิทยานิพนธ์ การค้นคว้าอิสระ การทำปริญญานิพนธ์ และการทำรายงานคือการลอกงานของคนอื่นมาทั้งแท่ง หรือเรียกว่า  ก๊อปแปะ   หรือ Copy and Paste  

ถ้าพวกเราต้องการอ้างอิงงานของคนอื่น   สิ่งที่ต้องทำคือ อ่านงานของเขาให้เข้าใจก่อน ถ้ายังไม่เข้าใจก็กลับไปทำความเข้าใจก่อน ถ้ายังไม่เข้าใจอีกก็กลับไปอ่านอีกรอบจนกว่าจะเข้าใจ แล้วเอาความเข้าใจนั้นมาเขียน  พูดง่าย ๆ ว่าปิดหนังสือของเขาแล้วเขียนเองได้  ถ้ายังไม่เข้าใจก็ยังไม่ต้องเขียน    ส่วนจะเข้าใจผิดเข้าใจถูกนั้นเป็นอีกเรื่องไม่ว่ากัน คนเราเข้าใจผิดหรือมองต่างมุมได้ แต่ลอกงานของคนอื่นไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่รับไม่ได้คือ การเขียนแบบ "ขนมชั้น" (ศัพท์บัญญัติและการให้คำนิยามโดยอาจารย์ผู้ใหญ่ผู้เปรียบดั่งครูของผม) โดยเอาย่อหน้าของคนโน้นมาต่อกับย่อหน้าของคนนี้ แล้วเขียนอ้างอิงกำกับ    เรื่องนี้คนไทยเข้าใจผิดมาเสมอว่า ถ้าไม่ลอกของเขามาทั้งแท่งแล้วมาเขียนเองแล้วถ้าเกิดผิดหล่ะ     มันจะไม่เป็นการดีสำหรับคนที่เขียนเป็นต้นฉบับมั้ง       คำตอบคือไม่ต้องไปกังวลตรงนั้น   เขาก็รับผิดชอบเฉพาะเอกสารที่เขาเขียน ไม่ได้ต้องมารับผิดชอบในสิ่งที่คนอื่นอ้างอิงต่อ    ดังนั้นเราจะอ้างผิดหรือถูกก็ไม่เกี่ยวไปถึงคนที่เป็นต้นฉบับอยู่แล้ว   ตัวอย่างของการเขียนแบบขนมชั้น เช่น

เริ่มต้นว่า ต่อไปนี้เป็นรายงานเรื่องเศรษฐศาสตร์ด้านกิจการอวกาศซึ่งเป็นวิชาหนึ่งที่น่าสนใจ มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ไกรศร (2549) กล่าวว่า ...............................................(1 ย่อหน้า)

คมสัน (2550) อธิบายว่า .............................................. (1 ย่อหน้า)

สุเมธ (2551) รายงานว่า.................................................( 1 ย่อหน้า)

แล้วก็ลงท้ายว่า   เศรษฐศาสตร์ด้านกิจการอวกาศเป็นวิชาที่มีความสำคัญ จึงควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป 

รายงานแบบนี้ไม่สร้างสรรค์ ไม่ได้ให้อะไรใหม่แก่สังคม และไม่ได้ทำให้ผู้ทำรายงานหรือผู้อ่านรายงานได้ความรู้เพิ่มขึ้น

รายงานที่สร้างสรรค์กว่าทำอย่างนี้

เศรษฐศาสตร์ด้านกิจการอวกาศมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องถึงเรื่อง....................มีจุดเน้นอยู่ที่....................      ต่างจากเศรษฐศาสตร์เรื่องอื่นตรงที่.........................ใช้ทฤษฎีหลัก ๆ คือ .............................       มีเครื่องมือในการศึกษาคือ.........................ตัวอย่างของการศึกษา เช่น   ไกรศร (2549)  ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับ.................... คมสัน (2550) ซึ่งได้ประยุกต์ใช้ในการศึกษาเรื่อง................ และสุเมธ (2552) ที่ได้ขยายผลการศึกษาออกไปในเรื่อง..........  เมื่อประมวลผลงานทั้งสามเรื่องทำให้ได้เห็นว่าจุดแข็งของเศรษฐศาสตร์ด้านกิจการอวกาศคือ................และจุดอ่อนของเศรษฐศาสตร์ด้านกิจการอวกาศคือ.............. โดยสรุปแล้ว เศรษฐศาสตร์ด้านกิจการอวกาศจึงเหมาะที่จะประยุกต์ใช้ในปัญหาเรื่อง...............และอาจจะยังไม่สามารถให้คำตอบที่ดีได้ในเรื่อง............ซึ่งในจุดนี้ควรต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป

การเขียนรายงานอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนได้ใช้เวลาอ่านมามากพอ   มีความเข้าใจจนสามารถแยกแยะประเด็นออกมาได้ว่าอะไรเป็นอะไร และได้ใช้ความคิดวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นจุดอ่อนและจุดแข็งของเรื่อง   และสามารถสรุปได้ถึงความเหมาะสมที่จะนำไปประยุกต์ใช้   ซึ่งรายงานอย่างนี้สร้างสรรค์กว่า และจะได้คะแนนมากกว่าอย่างแน่นอน   ลองฝึกดูนะครับ

เกร็ดการทำวิจัย ตอนที่ 20 การปรับปรุงแบบสอบถาม

บทความนี้เป็นบทความแรกในซีรีย์เกร็ดการทำวิจัยที่ผมเขียนขึ้นหลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกมาจากประเทศเยอรมัน   เหตุที่ต้องบันทึกไว้เพราะว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมกับนักศึกษาปริญญาโทกลุ่มใหญ่กำลังนั่งสร้างแบบสอบถามกันเพื่อใช้สำหรับทำวิทยานิพนธ์  แล้วได้พบปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขแบบสอบถาม  ผมจึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ที่จะบันทึกประสบการณ์นี้ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแบบสอบถามสำหรับนักศึกษารุ่นหลังต่อไป

การออกแบบสอบถามเหมือนกับการส่งทหารออกไปรบ  ซึ่งต้องใช้กำลัง  เงิน และเวลามาก  เราย่อมไม่ต้องการให้เกิดความสูญเปล่า  จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม  เพราะว่าถ้าพลาดไม่ใช่แค่หมายถึงต้องกลับมาทำกันใหม่  แต่อาจจะยังหมายถึงความท้อใจจนเลิกทำการศึกษานั้นไปเลย  ดังนั้นแบบสอบถามก่อนที่จะส่งออกไปเก็บข้อมูลต้องปรับปรุงให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

แบบสอบถามจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง  เมื่อประสบปัญหาดังนี้

1. คำตอบต้องออกมาอย่างที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว (Obvious) 

เรื่องที่เราไม่ค่อยอยากฟังเวลาที่มีคำวิจารณ์ออกมาก็คือ  "เรื่องนี้ผลก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าต้องออกมาเป็นแบบนี้  ไม่เห็นจะน่าตื่นเต้นตรงไหน"   ผลการศึกษาแบบนี้มักจะเรียกกันว่า Obvious หมายถึง  มันต้องเป็นอย่างที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว  ไม่ได้สร้างความแตกต่างไปจากสิ่งที่รู้กันอยู่เลย   แบบสอบถามที่มองแล้วเห็นว่าอย่างไรผู้ตอบก็ต้องตอบออกมาเหมือนกับที่เราคิดไว้  มีโอกาสน้อยมากที่จะตอบไปเป็นอย่างอื่น  ก็อย่าเสียเวลาออกแบบสอบถามไปถามเลยดีกว่า   เรื่องที่ควรถามควรเป็นเรื่องที่ไม่รู้จะออกข้างไหน  หรือ ห้าสิบห้าสิบ  แล้วให้เราลุ้นว่าคำตอบจะออกมาทางไหนกันแน่

2. คำตอบว่าไปเรื่อย หาหลักฐานอ้างอิงไม่ได้ (Subjective)

สิ่งไหนที่ควรจะวัดออกมาได้ หรือควรจะคำนวณออกมาได้  เราควรจะถามเอาข้อมูลเหล่านั้นแล้วนำกลับมาคำนวณเอง  อย่าให้ผู้ตอบคำถามต้องประเมินเองด้วยสเกลมากน้อย (สเกลแบบนี้เหมาะกับการใช้วัดทัศนคติหรือความพึงพอใจ  ซึ่งหาหลักฐานอย่างอื่นไม่ได้  แต่ไม่เหมาะกับกรณีที่ตัวเลขสามารถคำนวณได้จากหลักฐานอื่น)   เพราะเวลาเราเอาข้อมูลกลับมาเขียนรายงานแล้วจะถูกวิจารณ์ว่า  "คุณเอาคำตอบที่เป็นแบบ Subjective แบบนี้มานำเสนอได้อย่างไร  มันเชื่อถืออะไรไม่ได้" 

3. คำตอบไม่จริง (Biased)

เรื่องดี ๆ ใคร ๆ ก็อยากตอบว่าตัวเองดี   และเรื่องร้าย ๆ ใคร ๆ ก็ไม่อยากตอบว่าตัวเองร้าย   สุดท้ายแล้วคำตอบก็ออกมาทางเดียวกันหมดว่า  ทุกคนดีเหมือนกันหมดเลย  และไม่มีใครทำอะไรร้าย ๆ สักคน   เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้การวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Regression ออกมาพบว่าไม่มีตัวแปรต้น (X) ไหนเลยที่จะแยกแยะว่าใครเป็นใครได้  ตัวแปรทุกตัวจะออกมาไม่มีนัยสำคัญ (Insignificant) กันหมดอย่างแน่นอน

4. ไม่มีเรื่องราว ไม่มีความเชื่อมโยง ไม่มีเหตุผล  (Spurious)

แบบจำลองประเภทที่ไปตายเอาดาบหน้า  มักจะใส่ตัวแปรทุกอย่างเข้าไปทางขวามือ (ตัวแปรต้น หรือ ตัวแปร X)  แล้วคิดไปเองว่าจะมีความสัมพันธ์กับตัวแปรทางซ้ายมือ (ตัวแปรตาม หรือ ตัวแปร Y)  แบบจำลองประเภทนี้เมื่อนำมาสร้างเป็นแบบสอบถามแล้วก็จะมุ่งที่จะหาค่ามาเติมใส่แบบจำลองเท่านั้น  ไม่ได้ย้อนกลับไปคิดว่า  ตัวแปรต้นเหล่านี้หากเกิด "มีนัยสำคัญทางสถิติ" หรือแปลว่ามีความสัมพันธ์กันกับตัวแปรตามแล้ว  มันเป็นเพราะสาเหตุใด   หากไม่สามารถตอบได้  ก็แสดงว่าแบบจำลองนั้นทำท่าจะใช้ไม่ได้  แล้วแบบสอบถามที่ทำจากแบบจำลองที่ใช้ไม่ได้  ก็คงจะใช้ไม่ได้พอกัน

5. ไม่ลึก ไม่มีรายละเอียด (Shallow)

หลาย ๆ ครั้งที่แบบสอบถามทำไปเพื่อเอาใจแบบจำลอง  แบบว่าขอให้ได้ข้อมูลมาใช้ในแบบจำลองได้เป็นพอ   แต่เมื่อได้ผลจากแบบจำลองออกมาแล้วกลับพบว่าไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ  บอกได้แต่ว่าตัวแปรนี้มีนัยสำคัญ   ตัวแปรนั้นไม่มีนัยสำคัญ   พอถามว่า  เรื่องนี้ผู้ตอบมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร   ก็ไม่สามารถตอบได้   เพราะไม่มีข้อมูลในแบบสอบถาม   ดังนั้นแบบสอบถามที่ดีจำเป็นต้องมีคำถามเชิงพฤติกรรมด้วย  เพราะว่าจะเป็นข้อมูลที่ใช้เจาะลึกลงในรายละเอียดของผู้ตอบแบบสอบถาม  ซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์มีข้อมูลเชิงลึกในการอธิบายเรื่องราวมากขึ้น

6. ลืมข้อมูลสนับสนุน (Unsupportive)

ไม่เพียงข้อมูลเชิงพฤติกรรมที่จะทำให้แบบสอบถามได้ข้อมูลในเชิงลึก  แต่นักวิจัยต้องได้ตัวเลขที่จำเป็นสำหรับการสนับสนุนผลการศึกษาที่ได้จากแบบจำลอง   เพื่อที่จะใช้ "ยืนยัน" (Confirm)  ว่าแนวการวิเคราะห์ของเราถูกต้องจริง ๆ   ไม่ใช่แค่เป็นการ "เดา" (Speculation)  เท่านั้น   ตัวเลขเหล่านี้จะต้องคิดอ่านกันตั้งแต่แรกแล้วว่า  ผลการศึกษาจากแบบจำลองจะอ่านกันอย่างไร  ถ้าผลออกมาอย่างนี้แล้วเราต้องการตัวเลขอะไรมายืนยัน  หรือถ้าผลออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง  แล้วเราจะได้ตัวเลขอะไรมาช่วยสนับสนุนเหตุผล   เรื่องเหล่านี้จะว่าไปแล้วก็คือ  ต้องลองเขียนรายงานล่วงหน้าออกมาก่อน  เพื่อที่จะจินตนาการในทางที่เป็นไปได้ทั้งหมด  และเตรียมหาทางหนีทีไล่เอาไว้   เรื่องแบบนี้ต้องขยันคิดขยันทำและขยันจินตนาการ  ดีกว่าต้องมานั่งซึมทีหลังว่าผลการศึกษาออกมาแล้วไม่มีตัวเลขอื่น ๆ รองรับ

7. ตอบไม่ครบ (Missing)

เมื่อนักศึกษาหรือนักวิจัยคิดว่าจะต้องเก็บข้อมูลให้ครบทั้งหมดเท่าที่อยากได้  ทีนี้ความยาวของแบบสอบถามก็จะยาวขึ้นจนบางครั้งเกินกว่าความสามารถของผู้ตอบแบบสอบถาม   ผู้ตอบแบบสอบถามอาจจะเริ่มเบื่อ  และวางปากกา  จากนั้นก็อาจจะทิ้งแบบสอบถามของเราไปเลย  หรืออาจจะใจดีที่จะพับแล้วส่งกลับในซองที่เราเตรียมไว้ให้   แต่ถึงส่งกลับมาแบบสอบถามนั้นก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี   ดังนั้นทางที่ดีคือ  แบบสอบถามต้องสั้น   และต้องดึงดูดความสนใจได้นานพอจนกว่าผู้ตอบแบบสอบถามจะตอบเสร็จ     เรื่องนี้ต้องอาศัยศิลปะและจิตวิทยาในการจูงใจมาทำให้แบบสอบถามชวนติดตามและไม่น่าเบื่อ

8. ตอบโจทย์วิจัยไม่ได้ หรือตอบได้แต่ไม่ตรงจุด (Wasteful)

เวลาที่เราทำแบบสอบถามโดยเอา "แบบจำลองเป็นตัวนำ"  เราก็จะมุ่งถามถึงตัวแปรที่จะเอามาใส่ในแบบสอบถาม  จนอาจจะลืมไปว่าจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ออกแบบสอบถามไปเพื่อทำแบบจำลองเท่านั้น  แต่ยังต้องทำเพื่อตอบโจทย์วิจัย

 

การปรับปรุงแบบสอบถามต้องกลับมาดูว่าจริง ๆ แล้วงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ต้องการจะตอบโจทย์อะไรกันแน่  และต้องการหาทางเสนอแนะเรื่องอะไรที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคม   ตรงนั้นต่างหากที่ต้องดูแลว่าข้อมูลของเราเมื่อได้ออกมาแล้วจะตอบโจทย์นั้นหรือเสนอแนะเรื่องนั้นได้จริง ๆ หรือไม่   ถ้าทำไม่ได้ก็เสียเวลาที่จะทำ

แปดข้อนี้อาจารย์ถือว่านักศึกษาต้องได้เรียนรู้และทำการปรับปรุงแบบสอบถามของตนขึ้นมาใหม่   อาจารย์รู้ว่าแบบสอบถาม Version 1 ที่พวกคุณทำกันมานั้นก็ดูดีกว่าต้นฉบับแรกที่ส่งมาให้อาจารย์มาก   แต่ในเมื่อมันยังใช้ไม่ได้ดีตามที่ควรจะเป็น  อาจารย์อยากให้พวกคุณปรับปรุงให้เป็น Version 2  ขึ้นมาอีกครั้ง    แม้ว่าจะต้องเลื่อนกำหนดการส่งแบบสอบถามออกไปอีกหลายสัปดาห์   และแน่นอนว่ากระทบกับระยะเวลาที่พวกคุณจะสำเร็จการศึกษา  แต่อาจารย์ปล่อยผ่านไปไม่ได้   เพราะอาจารย์คิดว่า การส่งทหารออกไปรบโดยไปหวังว่าจะชนะเอาข้างหน้า  ย่อมไม่เป็นผลดีแน่   แต่อาจารย์อยากให้เราออกรบเมื่อเรารู้ว่าเราจะต้องชนะแน่นอน   หวังว่านักศึกษาทุกคนจะเข้าใจและอดทนปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์จนกว่าจะประสบความสำเร็จในที่สุด

คมสัน สุริยะ

suriya.goettingen@gmail.com